สร้างสุข…สนุกในโรงเรียน

 

 สร้างสุข…สนุกในโรงเรียน

          ภาพของเด็กที่ถูกตำรวจไปตามกลับมาจากร้านเกมและห้องคาราโอเกะที่เป็นข่าวเมื่อวันก่อนนั้น  สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างในสังคมที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถจะนั่งเฉยได้อีกต่อไป

 

          เด็กจำนวนมากไม่ยอมไปเรียนหนังสือ หรืออาจจะเรียนบ้างแล้วใช้เวลาที่เหลือมาอยู่ในสถานที่ที่เขาคิดว่าเป็นแหล่งให้ความบันเทิงทางจิตใจได้ แทนที่จะเล่นกีฬา ทำกิจกรรม หรือพูดคุยกับเพื่อนอยู่ที่โรงเรียน

 

          เด็กๆ ส่วนใหญ่ใช้เวลาที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้านเสียอีก เพราะฉะนั้น หากเด็กไม่ชอบไปโรงเรียน  นี่คงเป็นเรื่องใหญ่ คนที่ต้องร่วมช่วยกันรับผิดชอบนอกจากเจ้าของสถานประกอบการแล้ว ยังต้องไล่เรียงกันลงมาถึงผู้ใหญ่ทั้งหลาย ทั้งพ่อแม่ ทั้งครู และประชาชนที่เห็นพฤติกรรมของเด็ก

 

          การทำกิจกรรมเพื่อสร้างสุขสนุกในโรงเรียน นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่อาจละเลยได้ ในแต่ละปี   สำนักสนับสนุนโครงการทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนการทำงาน “สร้างเสริมสุขภาพ” และได้จัดทำสื่อเพื่อนสร้างสุข ชุด “สร้างสุข  เรื่องสนุก” ที่ประกอบด้วยหนังสือขนาดกะทัดรัด 3 เล่ม ขึ้นมาบอกเล่าประสบการณ์ในแง่ของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้สนุกและมีพลังไปพร้อมๆ กัน

 

          กรณีที่กล่าวถึงนี้เป็นการจัดทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมผสานการออกกำลังกาย โครงการ  “รักให้ดีด้วยอีคิว” เครือข่ายเยาวชนไทยต้านภัยเอดส์ โครงการบ้านวาดเขียน เรียนศิลปะ  ณ โรงเรียน  ตชด. และโครงการ walk rally บ้านตาลพร้า

 

          แต่ละโครงการมีรายละเอียดที่น่าสนใจในการดึงให้เยาวชนเข้ามาร่วมทำกิจกรรม  เริ่มเรื่องราวตั้งแต่ ทำไมถึงคิดโครงการลักษณะนี้ขึ้นมา กระบวนการในการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค และบทสรุป  ใครสนใจก็สามารถเปิดดูได้จากเว็บไซต์  http://gotoknow.org/blog/opgkm

 

          ประสบการณ์เหล่านี้มีคุณค่าสำหรับผู้ใหญ่ที่สนใจอยากดึงเด็กๆ ในสังคมของเราออกจากร้านเกม  หรือการใช้เวลาไปทำในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของตนเอง

 

          ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ปกครอง ควรต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อย  น่าเบื่อหน่ายเพียงใดก็ตาม เพราะคงไม่ใช่เรื่องง่ายในการเคี่ยวเข็ญเด็กสักกลุ่มที่ถูกรุมเร้าด้วยสิ่งบันเทิงใจทางวัตถุ ให้มาสนใจในสิ่งที่เขายังไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง

 

          หนัก เหนื่อย อ่อนล้าแค่ไหน ก็ปล่อยปละละเลยให้สังคมไทยเป็นสุดแท้แต่เวรกรรมจะพาไปไม่ได้ กว่าพวกเราจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้เป็นคนได้ทุกวันนี้ บรรดาคุณครู พี่ ป้า น้า อา ก็ต้องปากเปียกปากแฉะเคี่ยวเข็ญเรามาเช่นกัน

 

          สมัยนี้มีเครื่องมือ มียุทธศาสตร์ให้ศึกษาเป็นแนวทาง เท่ากับว่าช่วยเราให้ทุ่นแรงทางความคิดได้มากมาย ลองเสียเวลาศึกษาดูหน่อยจะเป็นไรไป อย่างน้อยยามที่เด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นเขาจะได้ไม่หันมาตำหนิเราว่า  พ่อแม่  ครูบาอาจารย์ทำไมไม่รู้จักสอนพวกเขา ทำไมปล่อยให้พวกเขาไร้อนาคตแบบนี้.

         

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update 27-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่ 

Shares:
QR Code :
QR Code