สร้างสุขภาพ สงฆ์ไทย ด้วยของใส่บาตร

เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร  Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก : ‘อาหารตักบาตร อาจก่อปัญหาที่คุณไม่รู้’ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร (Resource Center) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ห้องสร้างปัญญา อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ


สร้างสุขภาพ สงฆ์ไทย ด้วยของใส่บาตร thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัจจุบันการทำบุญตักบาตร หรือของถวายสังฆทานมักจะพบว่า มีอาหารที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพพระสงฆ์ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่พระสงฆ์ไม่สามารถนำไปใช้ได้ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องคำนึงถึงของทำบุญที่เหมาะสมเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพระสงฆ์ไทย


ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ‘อาหารตักบาตร อาจก่อปัญหาที่คุณไม่รู้ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร (Resource Center) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ห้องสร้างปัญญา อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้


อาหารตักบาตร…สุขภาพดี


ทุกวันนี้อาหารทำบุญตักบาตรส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหวาน มักพบว่าเป็นอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัดและมีไขมันสูง เมื่อพระสงฆ์ฉันเป็นประจำก็ส่งผลต่อสุขภาพทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาได้ มาดูกันดีค่ะว่า อาหารประเภทใดที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพพระสงฆ์บ้าง


สร้างสุขภาพ สงฆ์ไทย ด้วยของใส่บาตร thaihealth


1. อาหารจากธัญพืช อย่างเช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ งาดำ ลูกเดือย เห็ดหรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งวิตามินบีและอี ช่วยป้องกันความเสี่ยงของ โรคหลอดเลือดตีบ โรคเหน็บชา ตะคริว มีใยอาหารมาก ช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ และโรคโลหิตจาง เพิ่มแคลเซียม ลดไขมันและคอเลสเตอรอล บำรุงระบบประสาทและมีสารต่อต้านมะเร็ง


2. อาหารที่มีแร่ธาตุและวิตามิน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกพืชผักผลไม้ที่มีประโยชนในการป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้ สำหรับผัก ควรถวายเป็นผักหลากสี เช่น ผักสีเขียว ได้แก่ ผักคะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ผักสีแดง ได้แก่ มะเขือเทศ พริก แครอท ผักสีเหลือง ได้แก่ ฟักทอง พริกเหลือง สำหรับผลไม้ ควรเลือกถวายผลไม้ที่รสไม่หวานจัดเช่น ส้ม มะละกอ แตงโม ฝรั่ง กล้วย สับปะรด หรือแอปเปิล เป็นต้น


3. อาหารโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม เป็นต้น ควรเลือกถวายเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไร้มัน หรือ อาหารประเภทเต้าหู้ และผลิตภัณฑ์จาก ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ที่ให้สารอาหารประเภทโปรตีน เช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ ระมัดระวังอาหารประเภทไข่ สำหรับพระสงฆ์ที่ มีภาวะไขมันในเลือดสูง อาหารประเภทนม ควรเลือกถวายนมพร่อง ไขมัน โยเกิร์ต ส่วนนมเปรี้ยวนั้นไม่ควรถวาย เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่านมธรรมดา


4. อาหารไขมัน ช่วยให้พลังงานที่จำเป็นแก่พระสงฆ์โดยควรเลือกไขมันไม่อิ่มตัวที่ได้จาก พืช อาทิ น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น นอกจากนี้ ควรจัดอาหารถวายพระสงฆ์ให้ครบ 5 หมู่เน้นปรุงด้วยการต้มและนึ่ง และไม่ปรุง อาหารรสจัด


นอกจากอาหารทำบุญแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึงนั่นคือ ‘สังฆทาน’ เพราะเป็นของที่ประชาชนนิยมทำบุญถวายพระสงฆ์มากเช่นเดียวกัน แต่กลับพบว่า ของถวายพระในสังฆทานมักไม่ตรงตามความต้องการของพระสงฆ์ และของถวายที่หมดอายุ จะดีกว่าหรือไม่หากเราคำนึงถึงสิ่งจำเป็นที่ถวายให้กับพระสงฆ์


เลือกอะไรใส่…สังฆทานดี


การเลือกสิ่งของเครื่องใช้ เพื่อจัดสังฆทานเอง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะเราจะได้สังเกตวันผลิต วันหมดอายุ สภาพสิ่งของนั้นๆ ว่ามีความสมบูรณ์และของมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการจัดสังฆทานควรจัดแยกประเภทให้ชัดเจนนั่นคือ อาหารแห้ง และของใช้ ไม่ควรนำมาจัดรวมกัน เพราะอาจจะเกิดการปนเปื้อนของกลิ่นได้


สร้างสุขภาพ สงฆ์ไทย ด้วยของใส่บาตร thaihealth


1.ของใช้ที่จำเป็น


การเลือกของใบช้สำหรับจัดสังฆทานถวายพระสงฆ์ ควรเลือกสิ่งของที่พระสงฆ์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันอย่างเช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แปรงซักผ้า ผ้าขนหนู ที่โกนหนวด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ เป็นต้น และอีกหนึ่งที่สำคัญคือ จีวรพระ ที่มาในรูปแบบของผ้าไตร หากเราจะถวายควรรู้ก่อนว่าวัดที่ไปถวายใช้จีวรสีใดเพราะจีวรจะมีสีส้มสด กับจีวรสีส้มปนสีน้ำตาลซึ่งเป็นของวัดป่า และควรเป็นผ้าเนื้อดี ไม่บาง และเป็นผ้าเนื้อแข็งกระด้าง อาจทำให้ระคายผิวได้ง่าย นอกจากนี้ควรดูความยาวของผ้าก่อนทุกครั้ง เพราะหากเป็นพื้นเล็กเกินไป พระสงฆ์ก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้


2.อาหารแห้ง


นอกจากสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแล้วอาหารแห้ง ก็เหมาะกับวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นวัดป่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถวายสังฆทานประเภทนี้ ของที่ควรถวายจะมีนม ข้าวสาร น้ำ อาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปที่สามารถแกะฉันได้เลย ในส่วนของยา ก็มีความจำเป็นสำหรับใส่ในสังฆทาน แต่ควรดูวันหมดอายุด้วยทุกครั้งก่อนนำไปถวายพระสงฆ์


นอกจากนี้การถวายของใช้อื่นๆ เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาก็สามารถทำได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็นของใช้ในโรงครัว เช่น โถข้าว แก้ว ช้อนส้อม จานชาม บาตรพระ  เป็นต้น หรือเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับพิธีสงฆ์ อย่างเช่น ตาลปัตร อาสนะ ธูปเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัย ก็สามารถถวายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้การถวายปลั๊กไฟ ปลั๊กสามตา ก็ไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นสิ่งที่พระสงฆ์นำไปใช้ได้จริง ส่วนผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่มีกลิ่นหอม น้ำหอม โลชั่นอาบน้ำ และโลชั่นทาผิวที่มีกลิ่นหอม เป็นสิ่งของที่ไม่ควรถวายพระสงฆ์


ใส่ใจเพิ่มอีกซักนิดก่อนจะถวายอาหารและสังฆทาน เพื่อการสร้างสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ไทยอย่างยั่งยืน…


 

Shares:
QR Code :
QR Code