สร้างสุขภาพสมดุลทุกมิติ ปรับนาฬิกาชีวิต ห่างไกล NCDs
เรื่องโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย 2568 (ThaiHealth Watch 2025)
ภาพโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ในยุคที่โลกก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว สังคมไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ทุกวัน ไม่เว้นแม้สุขภาพ การระบาดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น สถานการณ์นี้ทำให้เราต้องให้ความตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการดำเนินชีวิต เพื่อความสมดุลทุกมิติของสุขภาพ
การสร้างสมดุลให้กับชีวิต ไม่ได้หมายความแค่การกินอาหารที่ดีและออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดการความเครียด การรับมือกับความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่หลายพันมวนต่อปี
จากสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ระบุว่าในปี 2565 คนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1,224 มวน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด จำนวนมากในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง…”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญกับการมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ตั้งแต่เกิดจนวันสุดท้ายของชีวิต ควรต้องปรับนาฬิกาชีวิตใหม่ ที่รวมไปถึงการปรับปรุงเรื่องเล็ก ๆ ทุกวัน แม้การเลือกเดินหรือขี่จักรยานแทนการขับรถยนต์ระยะทางสั้น ๆ การลดการบริโภคอาหารแปรรูป การใช้เวลากับครอบครัวจะช่วยให้ประชากรไทยมีคุณภาพชีวิตมากขึ้น
อีกทั้งทำให้เห็นภาพการลงทุนในเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่เพียงการไปหาหมอเมื่อป่วย แต่เป็นการลงทุนระยะยาวที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีในอนาคต
เก็บตกจากงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย 2568 (ThaiHealth Watch 2025) : Health by The HOUR สุขภาพสมดุลทุกมิติ ปรับนาฬิกาชีวิต ห่างไกล NCDs ที่ สสส.สานพลังภาคีขับเคลื่อนสังคม เก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์สุขภาพไทยปีที่ผ่านมา จากข้อเสนอแนะทั้งระดับบุคคลและนโยบายและผ่านความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์ เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
พบกระแสสังคม 7 ประเด็น ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอ ดังนี้
วิกฤตโลกเดือด ยิ่งเปราะบาง ยิ่งเดือนร้อน : โลกเดือดไม่ใช่แค่อากาศร้อน แต่ยังสร้างปัญหาสุขภาพกระทันหัน ไทยเสี่ยงจากผลกระทบสภาพภูมิอากาศติดอันดับ 9 ของโลก และเสี่ยงทางระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม สสส.สร้างความตระหนักและทักษะคนรุ่นใหม่ ฝึกอบรม เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อปรับใช้พฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไทย
ชีวิตอมฝุ่น : จากรายงานคุณภาพอากาศปี 66 ไทยมีมลพิษมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก โดยค่าเฉลี่ยมลพิษรายปีอยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับผลกระทบเทียบเท่าสูบบุหรี่ถึง 1,224 มวน ทำให้มีผู้ป่วยทางเดินหายใจกว่า 11 ล้านคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเกือบ 5 เท่า สสส. ส่งเสริมนโยบายอากาศสะอาดและการติดตามพระราชบัญญัติบริหารจัดการอากาศสะอาดจะช่วยลดปัญหามลพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาว
เยียวยาจิตใจ : ผู้ป่วยจิตเวชในไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคนในปี 2566 และมีข้อมูล จาก Social Trend ระบุคนไทยมีความเครียดสะสมสูงโดยเฉพาะเรื่องงานและเงิน พบโพสต์ที่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตถึง 2,526 ชิ้น โดย Keyword ที่ใช้มากที่สุด คือ ฆ่าตัวตาย รองลงมา คือ ซึมเศร้า สสส. ร่วมกับภาคีพัฒนาและสนับสนุนนวัตกรรมดูแลสุขภาพจิตผ่านโครงการ " ประสบการณ์" ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เพื่อช่วยลดช่องว่างและทัศนคติที่แตกต่างระหว่างวัย
ต่างวัยต่างติดจอ : จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนไทยในปี 2565 ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7.04 ชม./วัน แต่มีความรู้ในการป้องกันภัยออนไลน์ต่ำ ส่งผลเสี่ยงต่อปัญหาต่าง ๆ เช่น ติดพนันออนไลน์, ถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน, Cyberbullying, คุกคามทางเพศ สสส. ร่วมภาคีเพิ่มความรู้เรื่องสื่อและการป้องกันภัยออนไลน์ เพื่อช่วยให้ทุกวัยสามารถป้องกันตนเองจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม
เด็กอ้วนเพิ่ม ผู้ใหญ่ความดันพุ่ง : หลังพบข้อมูลคนไทยเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ NCDs สูงถึง 74% หรือประมาณ 4 แสนคนต่อปี โดยเด็กอ้วนมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยโรค NCDs เฉพาะเบาหวานที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.3 ล้านคน ในปี 2583 สาเหตุหลักมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สสส. เร่งสานพลังสร้างงานวิชาการ ผลักดันนโยบายระดับประเทศ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงสู่การปรับพฤติกรรม สร้างความตระหนักรู้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ และ การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นวิธีที่มีประสิทธิผล
โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ : เนื่องจากไทยมีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 28.8 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2560 เป็น 53 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2566 สสส. พัฒนาเว็บไซต์ www.คุยเรื่องเพศ.com เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสิทธิทางเพศแก่ทุกกลุ่มวัย ผ่านนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องปลอดภัย
การตลาดบุหรี่ไฟฟ้า : ภาพหวานเหมือนขนม ซ่อนพิษขมสำหรับเด็ก ผลการตลาดที่มุ่งเป้านักสูบหน้าใหม่ ทำให้ปี 2566 พบเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9.1% ส่วนหนึ่งมาจากไม่รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า สสส. พัฒนาองค์ความรู้ สร้างความตระหนักถึงการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมและจำกัดการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน ผลักดันนโยบายป้องกัน เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ไม่ให้ถลำสู่วงจรทำลายสุขภาพจากการใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินในระยะยาว
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า การลงทุนสุขภาพในวันนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น หากยังสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว สามารถเผชิญกับความท้าทายในชีวิตได้อย่างมั่นคง และมีความสุขอย่างแท้จริง ติดตามข้อมูลได้ที่ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/healthtrend และรับข้อมูลเฉพาะรายได้ที่แอปพลิเคชัน Persona Health
สสส. ชวนปรับนาฬิกาชีวิต สร้างสุขภาพที่สมดุลทุกมิติ ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงนวัตกรรมสุขภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม