สร้างสุขพร้อม ‘ลดอ้วน’ ให้เชื่อมั่น ‘เราต้องทำได้’
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
แฟ้มภาพ
คนนับล้านยังคงเผชิญกับความเครียด-วิตกกังวล ที่มีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพ
เมื่อมองดูปัญหาสุขภาพของคนไทย พบว่าคนไทยจำนวนมากมีปัญหา "โรคอ้วนลงพุง" และภาวะน้ำหนักตัวเกินเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุมาจากการ "ตามใจปาก" เน้นบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่มีแป้งและน้ำตาลสูง
ผู้หญิงที่มีความยาวรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร และผู้ชายที่มีความยาวรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร คนกลุ่มนี้จัดว่าเป็น "โรคอ้วน" ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่ทำลายสุขภาพ และก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ รุมเร้าเข้ามา อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเส้นเลือด เป็นต้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ระบุว่าภาครัฐเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีอัตรากำลังคนในปี 2560 อยู่ถึง 2.84 ล้านคน ดังนั้น สสส.จึงเล็งกลุ่มเป้าหมายให้ข้าราชการไทยมีความสุขในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดรายจ่ายทางสุขภาพ
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานภาครัฐ ที่ทางสสส. และสถาบันวิจัยสังคม จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของคพ. พร้อมมีการจัดเสวนาเรื่อง "องค์กรสร้างสุข Thailand 4.0” เปิดผลสำรวจสถานการณ์คุณภาพชีวิตข้าราชการไทย และบันไดสู่องค์กรแห่งความสุขของคนทำงาน ในโครงการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของกรมควบคุมมลพิษ และการลงนามความร่วมมือโครงการ (Happy Work Place@PCD)
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีคพ. เปิดเผยว่า จากการสำรวจคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากรกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2559 จำนวน 105 คน พบว่า 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงบ่อยครั้งหรือเป็นประจำถึง 65 เปอร์เซ็นต์ และไม่เคยออกกำลังกายหรือออกกำลังกายเป็นบางครั้งถึง 71 เปอร์เซ็นต์
"มากกว่า 1 ใน 4 มีความเครียดจากการทำงานบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ต้องทำงานเฉลี่ยเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หรือต้องทำงานเกินเวลาปกติบ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังพบปัญหาทางการเงินส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการออมอย่างเป็นระบบ" นายจตุพรเผยถึงปัญหา
อธิบดีคพ.กล่าวย้ำว่า คพ.ร่วมกับ สสส. ตั้งเป้าหมายการลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งจะมีการปรับให้เป็นโรงอาหารกรีน เพื่อส่งเสริมการบริโภคผักและความปลอดภัยจากสารพิษ และเปลี่ยนอาหารว่างในการประชุมเป็นเมนูสุขภาพ การชวนขยับกับบันไดสุขภาพและกิจกรรมออกกำลังกาย รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป
"เวลาที่ผมเข้าไปเชียร์กีฬาในสนามแข่งของต่างชาติ จะสังเกตว่ากองเชียร์มักจะพูดคำว่า Believe เสมอ เพราะฉะนั้นเราต้องเชื่อก่อนเลยว่า เราต้องทำได้ ผมในฐานะผู้บริหารคพ. จึงจำเป็นต้องวางเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน และให้ข้าราชการดำเนินการตามได้ ฉะนั้นจะให้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ มาขัดขวางการทำงานไม่ได้ ผมให้เวลาอีก 2 เดือนจะมาตรวจสอบมวลร่างกายกันอีกครั้ง ซึ่งทุกคนจะต้องมีสุขภาพที่ดีขึ้น" อธิบดีคพ. กล่าว
ขณะที่ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับ สนุนสุขภาวะองค์กร สสส. บอกว่า จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 3,342 ตัวอย่าง เปรียบเทียบปี 2559 กับ 2553 พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีระดับความสุขโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 มี ค่าเฉลี่ยความสุข 3.8 เทียบกับ 3.3 ในปี 2553 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง เจ้าหน้าที่รัฐมีภาวะน้ำหนักเกิน 53 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2559 เทียบกับ 50 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2553 สำหรับความเครียดจากการทำงานพบว่า ปี 2559 กับ 2553 มีความเครียดระดับมากถึงมากที่สุด 22 เปอร์เซ็นต์ เท่ากัน และเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานเกินเวลาราชการปกติ 97 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2559 เทียบกับ 83 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2553
"สิ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษ คือการมีภาระหนี้สินที่สูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 79 เปอร์เซ็นต์ ใน ปี 2553 โดยมีข้อสังเกตว่า ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้สินที่มาจากการผ่อนชำระสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท ถึง 41 เปอร์เซ็นต์" นพ.ชาญวิทย์บอกถึงปัญหาหนี้สิน
นพ.ชาญวิทย์ระบุว่า เมื่อเราก้าวเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจยุคไทยแลนด์ 4.0 ทรัพยากรบุคคลจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้น ดังนั้นภาวะเครียดที่ข้าราชการไทยกำลังเผชิญกันอยู่ต้องถูกลบทิ้งออกไป เพื่อพัฒนาตนเองสู่ยุคใหม่
"สสส. จึงต้องมีเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตองค์กรภาครัฐ เพื่อให้มีแกนนำนักสร้างสุของค์กร ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ การเก็บออม เป็นต้น ซึ่งบันไดสู่องค์กรแห่งความสุขของคนทำงานจึงประกอบด้วย การมีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ผ่อนคลาย บริหารการเงินเป็น ครอบครัวมีความสุข" นพ.ชาญวิทย์กล่าวทิ้งท้าย