สร้างสังคมไร้ควัน ป้องกันนักสูบหน้าใหม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ทุกนาที มีประชากรบนโลกนี้ต้องจากไปเพราะโรคจาก "บุหรี่" แม้ว่าจะมีผลวิจัยทั้งทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ ทั้งต่อตัวผู้สูบ และคนรอบข้าง แต่บุหรี่ก็ยังเป็นภัยคุกคามประชากรทุกมุมโลก จากฤทธิ์ของมันเองที่ทำให้เกิดการเสพติด และเสริมด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ มากมายของบริษัทบุหรี่ เพื่อดึงดูดให้มีนักสูบหน้าใหม่เข้ามาเป็นเหยื่ออยู่อย่างต่อเนื่อง
วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จะให้ทั้งผู้สูบ และผู้ยังไม่สูบ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลด ละ เลิก และไม่เริ่มสูบ ด้าน คนทำงานรณรงค์ก็จะได้ร่วมกันทบทวนเป้าหมายเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสังคมไร้ควันบุหรี่ และลดจำนวนนักสูบลง และแน่นอนว่าไม่ใช่การรณรงค์เพียงวันเดียวแล้วจบกัน เพราะต้องมีการต่อสู้อย่างต่อเนื่องและยาวนานเพื่อสร้างสังคมไร้ควัน
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยที่ติดบุหรี่กว่าครึ่งเริ่มสูบก่อนอายุ 19 ปี เมื่อมีการเริ่มสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่สามารถเลิกได้ ส่วนอีกร้อยละ 73 จะติดไปตลอดชีวิต สถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนว่า การทำงานเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงนั้น ไม่สามารถหยุดได้เลย
สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่เริ่มลดลงจาก 12.2 ล้านคน ในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคน ในปี 2558 การส่งเสริมและป้องกันให้คนไทยห่างไกลจากควันบุหรี่ มีหน่วยงานอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำงานเรื่องนี้อย่างเข้มข้นมาตลอดกว่า 14 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายมุ่งลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชน โดยมีแผนควบคุมยาสูบ ทำงานทั้งผลักดันด้านนโยบายสาธารณะ สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย พัฒนางานวิชาการ และรณรงค์สังคมให้ตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลด ละ เลิกบุหรี่ในที่สุด
การเดินทางเพื่อสร้างสังคมไร้ควันของ สสส.นั้น ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า การขับเคลื่อนด้านการควบคุมยาสูบ อาศัยพลัง 3 ประสาน ทั้งพลังด้านปัญญา สังคม และนโยบาย เพื่อให้เกิดการลดการสูบบุหรี่ในประชากรทุกกลุ่ม สถานการณ์การสูบบุหรี่ของไทยพบว่า ยังคงมีการสูบบุหรี่ทั้งกลุ่มคนในเมือง และกลุ่มคนในชนบท ทั้ง 2 กลุ่มมีลักษณะพฤติกรรมที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการดำเนินงานควบคุมยาสูบที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม
การทำงานจึงแบ่งเป็น ด้านนโยบายสาธารณะและบังคับใช้กฎหมาย ด้านวิชาการและระบบข้อมูลข่าวสาร ด้านเครือข่ายการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ การขยายสถานที่ปลอดบุหรี่ และด้านบริการเลิกบุหรี่ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีจุดเน้นในการขับเคลื่อนต่างกัน เช่น การพัฒนากฎหมายให้เข้มแข็งทั้งการห้ามโฆษณา ห้ามทำการตลาดทุกสื่อ เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การขึ้นภาษีทั้งบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นเพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ของผู้สูบทั้งที่อยู่ในเขตเมืองและชนบท การเข้าไปเชิญชวนให้ผู้นำชุมชน กลุ่ม อสม. หรือพระสงฆ์เพื่อเป็นผู้นำและต้นแบบในการเลิกสูบบุหรี่
สสส.และภาคีเครือข่ายร่วมกันผลักดันงานด้านการควบคุมยาสูบทั้ง 4 กลุ่มแผนงานอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลงานเป็นรูปธรรม อาทิ การประกาศพิมพ์หมายเลข 1600 บนซองบุหรี่ การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ให้มีขนาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของด้านที่มีพื้นที่มากที่สุดบนซอง การพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยที่จำเป็นในด้านการควบคุมยาสูบ การจัดตั้งศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติและคลินิกฟ้าใส สำหรับให้บริการเลิกบุหรี่แก่ผู้ติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ การขยายสถานที่ปลอดบุหรี่ไปยังสถานที่สาธารณะต่างๆ อาทิ ผับ บาร์ โรงพยาบาล ศาสนสถาน สวนสาธารณะ ยานพาหนะ สถานีขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
แม้ว่า สสส.จะเดินหน้าประสานภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับนโยบาย กฎหมาย นักวิชาการ ชุมชน แต่ ดร.นพ.บัณฑิตระบุว่า การทำงานด้านควบคุมการบริโภคยาสูบจำเป็นต้องมีการปรับมาตรการให้มีความทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ เช่น มาตรการด้านภาษีต้องปรับให้มีการขึ้นภาษีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขึ้นภาษียาเส้น เนื่องจากในปัจจุบันพบว่า ผู้สูบยาเส้นคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด เป็นต้น
สถานการณ์การบริโภคยาสูบของไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าตัวเลขอัตราการสูบบุหรี่จะลดลง แต่ในเชิงสถิติถือว่าคงตัว แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นต้องมีเครื่องมือตัวใหม่ในการทำงาน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ….ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากกฎหมายผ่านก็ จะช่วยให้สถานการณ์การสูบบุหรี่ดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
"สสส.ได้พยายามขยายการทำงานให้เหมาะกับบริบทของกลุ่มผู้สูบ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรในหลากหลายภาคส่วน สสส. เป็นเพียงน้ำมันหล่อลื่น ต้องแสวงหาพันธมิตรที่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงมาร่วมทำงานขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ สังคมปลอดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพเพื่อสร้างพลังให้แข็งแกร่งและขับเคลื่อนงานไปได้ไกลและมั่นคง การทำงานบุหรี่นั้น จำเป็นต้องได้รับการระดมพลังจากทุกภาพส่วนมาช่วยอย่างเข้มข้นและจริงจังมากขึ้น และ การทำงานของ สสส.ไม่ได้แค่มีกิจกรรมรณรงค์ แต่จะสร้างสรรค์กิจกรรมทำต่อเนื่องตลอดทั้งปีให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำงานของเราได้" ดร.นพ.บัณฑิตกล่าว
เป้าหมายที่สำคัญไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ก็ยังคงเป็นการสร้างสังคมไร้ควันให้เกิดขึ้นจริง.