สร้างภูมิคุ้มกันสังคม ลดอัตรา ‘ฆ่าตัวตาย’

กรณีดาราสาวคนดังกินยานอนหลับเกินขนาดจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อช่วยชีวิต และกลายเป็นประเด็นร้อนที่มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์และสื่อต่างๆ ถึงการตัดสินใจดังกล่าวที่มีเหตุผลจากเรื่องชีวิตที่ไม่สมหวัง


สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่จมอยู่ในความทุกข์สามารถตัดสินใจลงมือกระทำสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ และเป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าจากครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อน ญาติมิตร เป็นช่วงที่บุคคลดังกล่าวอยู่ในจุดที่อ่อนแอและโดดเดี่ยว ซึ่งอาจทำด้วยอารมณ์ลงไป ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ในขณะที่เป็นบุคคลภายนอกอาจสรุปด้วยความคิดเห็นอย่างไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริง และอาจไม่เข้าใจสภาวะของผู้เผชิญปัญหาโดยตรงที่อาจมีหลายปัจจัยจนเกิดความเครียดสูงจนตัดสินใจเช่นนั้นได้


สร้างภูมิคุ้มกันสังคม ลดอัตรา 'ฆ่าตัวตาย' thaihealthในเรื่องนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า คนรอบข้างหรือคนทั่วไปไม่ควรมองเพียงว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ โดยสาเหตุในการทำร้ายตัวเองมี 3 สาเหตุ คือ 1.ภาวะอารมณ์ที่อ่อนไหวมากๆ คิดอยากทำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าตัวตาย แต่เป็นการทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบที่อาจส่งผลให้ตัวเองบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ 2.ความเครียดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เกิดภาวะกดดันสะสม เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจไม่ไหวและตัดสินใจทำร้ายตนเอง และ 3.กลุ่มโรคซึมเศร้า ทำให้มีมุมมองวิธีคิดที่ทำให้เกิดการทำร้ายตัวเองได้ ดังนั้นแม้เป็นบุคคลสาธารณะ แต่สังคมควรจะมีมุมมองที่มีความเคารพต่อกัน เอื้อเฟื้อความรู้สึกที่ดีต่อกัน อีกทั้งข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วต้องกลั่นกรองด้วย


ปัญหาการฆ่าตัวตายมีผลกระทบต่อสังคมและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและสังคม ผู้ที่มีความเสี่ยงมีหลายกลุ่ม ทั้งผู้ประสบวิกฤติเศรษฐกิจดังที่ปรากฏเป็นข่าว แม้กระทั่งประชาชนที่มีปัญหาทั่วไป กลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาการเรียน ความรัก และความไม่สมหวังในชีวิต ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรของประเทศอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจับกระแสสัญญาณเตือนและวางแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือให้ทันการณ์ และเสริมสร้างกระตุ้นให้เห็นถึงคุณค่าของตัวเอง เปิดมุมมองว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ในภาพรวมต้องสร้างทัศนคติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ควบคู่กันระหว่างดัชนีชี้วัดความสุขและดัชนีชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ


เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2546 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้วันดังกล่าวของทุกปีเป็น "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" โดยประมาณการพบว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่า 8 แสนราย หรือ เฉลี่ย 1 คนทุก 40 วินาที และคาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีคนเสียชีวิตถึง 1.53 ล้านคน จึงกำหนดให้ประเทศสมาชิกร่วมแก้ไขปัญหาและลดอัตราการฆ่าตัวตายลงให้ได้ถึงร้อยละ 10 โดยประเทศไทยในปี 2556 พบผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 3,900 รายต่อปี คิดเป็นอัตรา 6.08 คนต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 328 คน หรือวันละ 10-12 คน คิดเป็นทุก 2 ชั่วโมงมีคนไทยฆ่าตัวตาย 1 คน จึงเป็นอัตราที่น่าเป็นห่วงยิ่งและหน่วยงานตลอดจนสังคมต้องช่วยกันป้องกันและลดตัวเลขให้ได้


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code