สร้างภูมิคุ้มกันขับขี่ปลอดภัย ปลูกฝังวินัยด้วยวัคซีนจราจร
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานพิธีลงนามข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน Thailand Safe Youth Program “วัคซีนจราจร” วันที่ 25 มีนาคม 2567
ภาพโดย ภัณฑิรา แสวงดี Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“…ในปี 2566 ที่ผ่านมา เด็กไทยมีอัตราการเกิดเพียงแค่ 480,000 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีอัตราการเกิดน้อยกว่า 500,000 คน…”
เป็นคำกล่าวของ นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงอัตราการเกิดของเด็กไทยที่น้อยลง และชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นและกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย
ฉายภาพจากข้อมูลเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา ให้เห็นว่าทั่วประเทศไทย มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 10-19 ปี ประมาณ 7,800,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนมากเกือบร้อยละ 4 หรือจำนวน 290,000 คน และยังมีผู้บาดเจ็บที่มากถึง 48,000 คน ทุพพลภาพ 2,300 คน และเสียชีวิตมากถึง 2,693 คน เลยทีเดียว !!
“เราต้องช่วยกันประคับประคองเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ การลดปัจจัยเสี่ยงบนท้องถนน จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการลดความสูญเสียของเด็กและเยาวชน ให้สามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัย และเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวย้ำ
โครงการ Thailand Safe Youth Program หรือวัคซีนจราจร จึงเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนลดปัจจัยเสี่ยง สร้างพื้นที่ปลอดภัยบนท้องถนนให้เด็กและเยาวชน ด้วยพันธะแห่งข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน Thailand Safe Youth Program “วัคซีนจราจร” ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า “Thailand Safe Youth (TSY) หรือวัคซีนจราจร คือ วิธีการแก้ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน ดังนั้น การศึกษาวิจัยในหลายพื้นที่นำร่อง พร้อมบันทึก รวบรวม และวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดปัญหา จะมีทั้งเชิงนโยบาย มาตรการต่าง ๆ และส่งเสริมการสร้างทัศนคติความปลอดภัย ที่ประกอบด้วยหลากหลายกระบวนการ”
เริ่มจาก วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ เสนอประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาการสูญเสียในเชิงปริมาณ เช่น จำนวนสูญเสีย ยานพาหนะ และ ในเชิงคุณภาพ เช่น สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พัฒนานโยบายและการขับเคลื่อนกลไกการทำงานในทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัดถึงระดับท้องถิ่น
ตามด้วยสร้างการทำงานเป็นทีมจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน และสังคม สร้างมาตรการการเปลี่ยนแปลง เช่น ปรับสภาพแวดล้อม ใช้กฎหมายขับเคลื่อน พัฒนาทักษะชีวิตฉีดวัคซีนจราจร สร้างทัศนคติความปลอดภัย วิเคราะห์ตระหนักรู้สถานการณ์ วินัยจราจร ประเมินผลลัพธ์และวิเคราะห์ข้อมูลสะท้อนกลับ
“การลงนามของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน คือ ส่วนสำคัญในการยกระดับการทำงานด้านความปลอดภัยบนท้องถนน และ การจัดตั้งชมรมวัคซีนจราจร จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ระเบียบวินัย การมีดุลยพินิจการตัดสินใจ ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ถนนอย่างปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชนได้ต่อไป” นายทรงศัก กล่าวย้ำ
ขานรับการยกระดับสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนจาก นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า…
“สสส. มีแผนการดำเนินงาน 15 แผนงาน โดยงานด้านความปลอดภัยถือเป็นหนึ่งในประเด็นขับเคลื่อนภายใต้แผนการดำเนินงานที่ 3 การจัดการความปลอดภัยและความเสี่ยงทางสังคม โดยอาศัยความร่วมมือและบูรณาการจากภาคีเครือข่าย เพื่อลดความสูญเสีย ตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565-2570
เรามีเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในปี 2570 เหลือ 8,474 คน หรือ 12 ต่อประชากรแสนคน และลดจำนวนผู้บาดเจ็บเหลือ 106,376 คน”
“สสส. มีระบบภาคีเครือข่าย และช่องทางสื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านความปลอดภัยให้ทั่วถึง โดยเฉพาะในการปลูกฝังพฤติกรรมสร้างความปลอดภัย และวินัยจราจรในกลุ่มเด็กปฐมวัย ที่มักบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ สู่ผู้ใหญ่ในครอบครัว ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างความปลอดภัยของผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี” นางก่องกาญจน์ กล่าวเพิ่มเติม
บรรยากาศภายในงานบันทึกลงนามข้อตกลงนี้ ได้พบกับกลุ่มเยาวชนผู้ขับเคลื่อนงานฯ อีกด้วย โดย นายศตเนติ เที่ยงมา จากโรงเรียนแวงน้อยศึกษา จ.ขอนแก่น เผยความรู้สึกการทำงานว่า
…แต่เดิมในบริเวณโรงเรียนมีอุบัติเหตุไม่มากอยู่แล้ว แต่อัตราการสวมหมวกกันน็อกนั้นมีไม่มาก จึงมีการติดตั้งกล้องตรวจจับการสวมหมวกกันน็อกพร้อมระบบ AI ที่สามารถระบุได้ว่าใครใส่หรือไม่ใส่หมวกเพื่อลดเสี่ยงบาดเจ็บและเสียชีวิต ทำให้ผลักดันการสวมหมวกกันน็อกได้ถึง 100% เลยทีเดียว
ขณะที่ น.ส.อาทิตยา ภูสมจิตร จากโรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม ได้เล่าว่า กลุ่มของตนขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ด้วยทำชุดองค์ความรู้ ประชาสัมพันธ์การขับขี่ปลอดภัย และวินัยจราจร โดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กปฐมวัย และชุมชนรอบข้าง ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการสวมหมวกกันน็อกจาก 20% เป็น 70% เลยทีเดียว
เพราะเด็กต้องเติบโตเป็นอนาคตของชาติได้อย่างมีคุณภาพ สสส. จึงมุ่งสานพลัง สนับสนุนการสร้างถนนสายปลอดภัย ไร้จ็บ ไร้สูญเสีย นำไปสู่การสร้างสุขภาวะดี 4 มิติ ต่อไป