สร้างพยาบาล…นักสร้างเสริมสุขภาพอาชีพ
รู้หรือไม่ว่า..นักสร้างเสริมสุขภาพที่ดีไม่ใช่แค่การเรียนรู้เพียงในตำราเท่านั้น ยิ่งวิชาชีพด้านการพยาบาล ยิ่งต้องมาจากองค์ความรู้ที่ส่งผลดีต่อผู้รับบริการอย่างแท้จริงด้วย ที่สำคัญคือการใส่หัวใจอาสาเสียสละอันเป็นองค์ประกอบของการทำความดีงาม จิตใจดีงาม สิ่งเหล่านี้ต้องผ่านการเรียนรู้ที่มาจากประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการอบรมบ่มนิสัยแนวทางการส่งเสริมสุขภาพใจและกายเคียงคู่กันไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม
เมื่อเร็วๆ นี้ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการมหกรรมการเรียนรู้เครือข่ายพยาบาลศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (พย.สสส.) ครั้งที่ 2 หัวข้อ “บ่มเพาะนักศึกษาพยาบาล…สู่การเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพ” ซึ่งจัดโดย แผนงานพัฒนาเครือข่ายพยาบาลศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างองค์ความรู้และแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนานักศึกษาพยาบาลด้านการสร้างเสริมสุขภาพได้สร้างสรรค์งานด้านนี้อย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพที่ดีได้ในอนาคต
ภายในงานยังเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่อง “How..to..บ่มเพาะนักสร้างเสริมสุขภาพสหสาขาวิชาชีพ” โดยรศ.นพ.รณภพ เอื้อพันธเศรษฐ ประธานเครือข่ายกิจการนิสิตนักศึกษาแพทย์และอาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“จากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้พบว่า ยังมีความเคลื่อนไหวในขอบเขตจำกัด และการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เกิดขึ้นเฉพาะในระดับบุคลากรหรือโครงการย่อยเท่านั้น จึงต้องมุ่งสร้างเสาหลักให้เกิดขึ้นภายในคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างแท้จริง โดยได้สร้าง 4เครือข่ายขึ้นทั้งเครือข่ายนักศึกษาแพทย์ อาชีวอนามัย KM หรือการจัดการความรู้ และ palliative care หรือการดูแลแบบผสมผสาน” รศ.นพ.รณภพกล่าว
ผศ.ทพ.ดร.จรินทร์ ปภังกรกิจ ผู้จัดการแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข กล่าวถึงบทเรียนการสร้างบัณฑิตทันตแพทย์นักสร้างสุขภาพ ว่า แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์ฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.เนื่องจากต้องการทำงานเพื่อให้นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์เห็นความสำคัญในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความเครียดในตัวนักศึกษาและแพทย์อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องใช้เวลาราว 2-3ปี จึงเห็นผล โดยได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547ทำงานคล้ายโรงเรียนแพทย์ฯ มีการประชุม ตั้งคณะกรรมการทำงานขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำงานแรกเริ่มได้ศึกษาตัวอย่างต่างๆ อาทิ พยาบาลชุมชน
รศ.ดร.วรรณภา ศรีธัญรัตน์ ผู้จัดการแผนงาน พย.สสส. กล่าวทิ้งท้ายว่า สถาบันการศึกษาพยาบาลจะเน้นให้ทำงานในลักษณะเป็นผู้นำด้านสร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก โดยการทำงานแบ่งเป็นระยะที่ 1ระหว่างปี 2546-2550เป็นระยะสร้างศักยภาพ ต่อมาระยะที่ 2ซึ่งแบ่งเป็น 2ช่วง คือ ตั้งแต่ปี 2550-2552ได้ขยายและสร้างเครือข่ายโดยเน้นครูกับศิษย์ในการสร้างสุขภาพที่ดี ต่อมาช่วงระหว่างปี2552-2553บูรณาการและสร้างสรรค์ผลงานแต่ปัญหาคือ คนยังไม่ค่อยรู้ถึงผลงานที่พยาบาลทำ จึงต้องขับเคลื่อนให้คนเข้าใจ ซึ่งสาขาพยาบาลศาสตร์ ได้ทำเรื่อง สมรรถนะด้านการสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาพยาบาล จนนำไปสู่การกำหนดสมรรถนะและเนื้อหาสาระของการสร้างเสริมสุขภาพในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์
วันนี้กำลังสร้างนักศึกษาพยาบาลในอนาคตอันใกล้จึงย่อมจะมีพยาบาลผู้เปี่ยมสมรรถนะด้านการสร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมอย่างแท้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ