สร้างทีมส่งเสริมสุขภาพจิตระดับท้องถิ่น บ้านคลองเหมืองใหม่ จ.สมุทรสงคราม เร่งขยายผลรองรับสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    สสส.-มสช. สานพลัง 10 ชุมชนต้นแบบ สร้างทีม นสช. ส่งเสริมสุขภาพจิตระดับท้องถิ่น ชูบ้านคลองเหมืองใหม่ จ.สมุทรสงคราม เจ้าของนวัตกรรมดูแลใจวัยใส-ผู้สูงอายุ-ติดเตียง-ผู้พิการ เร่งถอดบทเรียน ขยายผลให้ครอบคลุม 100 ชุมชนใน 5 ปี รองรับสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยพุ่งสูงต่อเนื่อง

                   เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 ผศ.ดร.พิมพา ขจรธรรม กรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. พร้อมคณะ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนความสำเร็จนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.) ตำบลเหมืองใหม่ ที่ รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นายชาติวุฒิ กล่าวว่า จากสถานการณ์สุขภาพจิตที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย ตลอดปี 2564 พบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายในกลุ่มประชากรทั่วไปถึงร้อยละ 14.5 16.8 และ 9.5 สัดส่วนสูงมากในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียนอายุไม่ถึง 20 ปี และอายุ 20-29 ปี ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการตกงาน สูญเสียรายได้ เป็นกลุ่มที่ต้องการดูแล เยียวยาทางจิตใจ เนื่องจากมีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า สวนทางจำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่มีจำกัด ไม่เพียงพอ สสส.จึงร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พัฒนาแนวทางป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด

                   “ชุมชนท้องถิ่น มีความสำคัญมากในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ต้นทาง สสส. ร่วมกับ มสช. ดำเนินโครงการ “พัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต” นำร่อง 10 พื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน มุ่งส่งเสริมและสร้างศักยภาพให้คนในชุมชนเป็นบุคลากรด้านสุขภาพจิต ร่วมช่วยเหลือทางสังคม การเงิน การประกอบอาชีพ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความเครียดความกังวลของประชาชน” นายชาติวุฒิ กล่าว

                   นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นฯ มสช. กล่าวว่า โครงการนี้ มุ่งเน้นทดลองและพัฒนาตัวอย่างของชุมชนท้องถิ่นป้องกันปัญหาสุขภาพจิตด้วยกลไกที่แตกต่างกัน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา วัด หน่วยบริการสุขภาพ นำร่อง 10 พื้นที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค มี นสช. กว่า 200 คน ซึ่งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข หรืออาสาพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว แต่เพิ่มบทบาท และเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพจิตเข้าไปด้วย จากการดำเนินงานกว่า 1 ปี ทำให้เกิดกลไกการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพจิตที่เข้มแข็งตั้งแต่การส่งเสริม สอดส่อง และส่งต่อ มีการกำหนดกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาจิตเวช ผู้ติดยาเสพติด ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา อาทิ ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณค่า สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ อีกทั้งผู้นำท้องถิ่นเห็นความสำคัญของงานด้านสุขภาพจิตมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายถอดบทเรียนทั้ง 10 พื้นที่ ขยายผลการดำเนินงานเป็น 100 พื้นที่ภายใน 5 ปี

                   นายนิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านคลองเหมืองใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 5 ด้าน ด้านสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ เศรษฐกิจ สัมพันธ์ภาพครอบครัว และสังคม รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ จึงจัดกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี ลดขนาดผลกระทบ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแต่ละด้าน ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ด้วยภาคีเครือข่าย บ.ว.ร. คือ บ้าน วัด หน่วยราชการ พัฒนาแนวทางส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนในสถานการณ์วิกฤต นำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาเข้ามาช่วยบำบัด สร้างสติและสมาธิของผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป โดยการนำของ พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ดร.หลวงพ่อแดง รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา และเจ้าอาวาสวัดอินทาราม และวัดทั้ง 9 แห่งในพื้นที่ เกิดนวัตกรรม คือ ชมรมธรรมะหรรษาสามวัย ธนาคารผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพื่อผู้สูงอายุติดเตียงและผู้พิการ กล่องเปิดใจวัยใส จนได้รับรางวัลตำบลจัดการคุณภาพชีวิตดีเด่นระดับประเทศ ในปี 2565

                   ผศ.ดร.พิมพา กล่าวว่า ชื่นชมการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพจิตของ ต.เหมืองใหม่ มีจุดแข็งที่สามารถถอดบทเรียนไปเป็นต้นแบบขยายผลในพื้นที่อื่นได้หลายด้านมาก ทั้งประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการฯ ผู้นำมีความเข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับปัญหา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ง่าย และมีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพจิตครอบคลุมทุกกลุ่มวัย พร้อมฝากให้มีการส่งต่อโครงการนี้ไปยังรุ่นต่อ ๆ ไป เพื่อให้งานมีความยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code