สร้างความรู้ให้ชุมชน ใช้ยาอย่างปลอดภัย

         พัฒนาศักยภาพชุมชน แก้ไขปัญหาด้านการใช้ยาชุด ชุด ยาปฏิชีวนะ แก้ไขการใช้ยาผิด และผลข้างเคียงจากการใช้ยา


/data/content/26654/cms/e_bhjlmoswxy17.jpg


          ปัญหาการเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุขและยา ของประชาชนในชนบทยังคงเป็นจุดบอดของภาครัฐที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ร้านค้าในหมู่บ้านจึงเป็นทางเลือกเดียวที่มีพร้อมทั้งข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภครวมถึงยาสามัญประจำบ้าน ยาปฏิชีวนะ ยาลูกกลอน และยาชุด เมื่อเจ็บป่วยเป็นไข้หวัด ปวดหัว ปวดท้อง ต้องนึกถึงร้านขายของชำใกล้บ้านเป็นแห่งแรก อีกทั้งยังมีรถเร่ขายยาแก้ปวดสารพัดนึก ปวดหัว ปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ยาประดงที่มาพร้อมการแสดงต่างๆ เช่น รถฉายหนังกลางแปลง รถการแสดงโชว์ของลิง หรืองู โดยชาวบ้านหารู้ไม่ว่ายาเหล่านี้มี สารสเตียรอยด์ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา


          นายศศิพงค์ ทิพย์รัชดาพร (หรือที่ชาวบ้านรู้จักในนามของหมอแชมพ์) เภสัชกรปฏิบัติการ โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการแก้ไขปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ยาชุด ยาปฏิชีวนะ ยาลูกกลอน ยาอันตรายอย่างมีส่วนร่วมอพรรณานิคมจสกลนครกล่าว สะท้อนถึงปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ยาในชุมชนว่าปัจจุบันยาชุด ยาปฏิชีวนะ ยาลูกกลอน เป็นยายอดนิยมและมีการแพร่กระจายในชุมชนเป็นจำนวนมาก


   /data/content/26654/cms/e_abdekqwy2468.jpg       จากการสำรวจร้านขายของชำในเขตพื้นที่ อ.พรรณานิคม พบว่ามีการใช้ยาชุด ยาลูกกลอน ยาปฏิชีวนะและยาอันตรายในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร และผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเมื่อย หรือปวดข้อเรื้อรัง มักจะใช้ยาชุดที่มีส่วนประกอบของยาสเตียรอยด์จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนอกจากนี้ยังมีการลักลอบจำหน่าย ยาชุด ยาปฏิชีวนะ ยาลูกกลอนและยาอันตรายภายในร้านชำเป็นจำนวนมากโดยคิดเป็นร้อยละ 84.52 ของจำนวนร้านชำทั้งหมด ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะคุชชิ่ง (Cushings syndrome) หรือ ต่อมหมวกไตบกพร่อง (Adrenal insufficiency) ที่เกิดจากการใช้ยาชุด ยาลูกกลอน ยาเม็ดสเตียรอยด์ และนำไปสู่ปัญหาการแพ้ยาซ้ำ และปัญหาเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะ


          ทั้งนี้จากการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมา มาตรการทางด้านกฎหมาย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เตือนแก่ประชาชน นับเป็นมาตรการที่ดีแต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร และมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาสุขภาพจากการใช้ยาสูงขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อให้สอดรับกับลักษณะของปัญหาที่เป็นรากเหง้าที่ฝังลึกในชุมชนมาเป็นเวลายาวนาน เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค อ.พรรณานิคม เล็งเห็นความสำคัญจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการแก้ไขปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ยาชุด โครงการนี้เป็นแบบมีส่วนร่วมของชุมชนขึ้น เพื่อจัดการยาชุด ยาปฏิชีวนะ ยาลูกกลอน และยาอันตรายที่เป็นระบบในเขตพื้นที่ อ.พรรณานิคม พร้อมสร้างความตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ยาประเภทนี้ และเกิดทัศนคติที่ดีจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาอันตรายลดลงจนนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน


          ส่วนผู้ประกอบการก็มีความเข้าใจถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคจากการใช้ยา และบทลงโทษทางกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่นำยาชุด ยาปฏิชีวนะ ยาลูกกลอน ยาอันตราย มาจำหน่ายในชุมชน และเพื่อให้เกิดชุมชนต้นแบบที่สามารถลดปัญหาการใช้ยาได้อย่างเหมาะสมและเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลแก่อำเภอข้างเคียงต่อไปในอนาคต


          "เราคาดหวังว่าจะสามารถสร้างข้อตกลงร่วมของเครือข่ายชุมชน วางเป้าหมายการดำเนินงานระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดหมู่บ้านต้นแบบ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยา ด้วยการสร้างนวัตกรรมชุมชน โดยมีการดำเนินการเฝ้าระวังและพัฒนาศักยภาพ สนับสนุนองค์ความรู้ เชื่อมประสานเครือข่าย ให้ข้อมูล สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สร้างทีมงานระดับหมู่บ้าน แกนนำ นักเรียน อย.น้อย แกนนำ อสม. อย.น้อย แรนเจอร์ อสม.สายตรวจ องค์การบริหารส่วนตำบลผู้นำชุมชน ตัวแทนผู้ประกอบการ ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเผยแพร่ความรู้สร้างความต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนรู้จักเลือกซื้อ เลือกใช้ยาอย่างฉลาด ผู้ประกอบการรู้จักเลือกยาดี มีคุณภาพ หมู่บ้านปลอดยาชุด ยาอันตราย ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร"


          ยาถือเป็นโอสถทิพย์ ช่วยให้หายจากอาการเจ็บปวด โรคที่เจ็บป่วยได้ แต่ทุกอย่างย่อมมี 2 ด้าน หากใช้ยาให้เป็นก็จะหายขาดจากโรค ถ้าใช้ไม่เป็น นอกจากไม่หายจากโรคก็ยังเป็นอันตรายถึงตายได้


          ลงพื้นที์หาแนวร่วม


          สำรวจยาที่ขายในร้านชำในเขตพื้นที่ อ.พรรณานิคม จำนวน 10 ตำบล 135 หมู่บ้าน มีการประชุมภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบแนวทางการดำเนินงาน จัดการอบรม อสม.เกี่ยวกับการค้นหาร้านค้า ร่วมกันค้นหาผู้ป่วยที่มีประวัติสงสัยได้รับยาสเตียรอยด์ในชุมชน ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง


          ร่วมทำประชาคมเรื่องร้านชำโดยคนในชุมชน หาแนวร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการ ได้แก่ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการร้านค้าในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินกิจกรรมไปแล้วทั้งสิ้น  3 กิจกรรม ได้แก่ ประชุมเครือข่ายชุมชนทั้ง  10 ตำบล


          สำรวจความรู้และพฤติกรรมการใช้ยาของคนในชุมชน และสำรวจร้านค้า ร้านชำในชุมชน และในเดือนตุลาคมนี้กำลังทำกิจกรรมที่ 4 คือ การอบรมเครือข่ายชุมชน


          รู้เท่าไม่ถึงการณ์


          นางเนตรน้อม เพชรสิน อสม.หมู่ 16 บ้านตาลเรียนใต้ ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ก้มๆ เงยๆ เกือบทั้งวันก็จะมีอาการปวดหลังปวดเอวกันมาก พอมีรถเร่มาขายยาที่โฆษณาว่ารักษาอาการปวดได้ก็ซื้อมากิน พอกินแล้วหายปวดก็ซื้อกันยกโหล บอกต่อกันปากต่อปาก แล้วพอหยุดกินก็ปวด จึงกินกันมาต่อเนื่อง โดยไม่รู้ว่ายาเหล่านี้มีสารสเตียรอยด์ที่จะไปสะสมในร่างกายทำให้เป็นอันตรายได้


          ส่วนที่ร้านขายยาก็จะขายยากาโน่ป๊อก กินแก้ปวด กินแล้วหายไวทั้งที่เป็นยาอันตรายมาก ต่อมามีคนในหมู่บ้านใกล้เคียงกินยาเพนิซิลลิน ที่ซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้านแล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัวไม่กล้าซื้อยามากินเอง เจ็บป่วย ปวดหลัง ปวดเอว ก็เข้าไปโรงพยาบาล หรือไปหาหมอที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล


          "ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ซื้อยากินเองจะเป็นผู้สูงอายุที่เคยชินกับยารถเร่และยาชุด แต่พอมีโครงการ อสม.ก็เข้าไปฟัง อบรมเรื่องยาอันตรายที่ขายในชุมชนของเรา ผลของการใช้ยาอันตรายและได้รับแจกแผ่นพับให้ความรู้ พอกลับมาเราก็ลงพื้นที่ร้านค้าในหมู่บ้าน พร้อมด้วย อบต.  เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปแนะนำว่ายาอันไหนที่อันตรายไม่ควรขาย พร้อมทั้งทำประชาคมหมู่บ้านว่าห้ามขายยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ตามรายการยาในแผ่นประชาสัมพันธ์ หากฝ่าฝืนก็จะลงโทษ ซึ่งร้านค้าในชุมชนของเรา 3 ร้าน ก็ให้ความร่วมมือดี  แล้วรวมไปถึงการแนะนำการใช้ยาในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีกลุ่มคนมาโฆษณาชวนเชื่อให้ดื่มน้ำสมุนไพรแล้วจะหายจากโรคเบาหวาน ความดัน ว่าไม่ควรกินเพราะโรคนี้ไม่หายขาดแค่บรรเทาอาการ ก็แนะนำให้เขากินอาหาร ออกกำลังกาย ซึ่งชาวบ้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พอเราแนะนำเขาก็เชื่อและยอมทำตาม ทำให้คนในชุมชนของเราเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ซื้อยากินเอง ร้านค้าก็ไม่ขายยาอันตรายแล้ว"


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code