สร้างคนไทยให้รอบรู้เรื่องสุขภาพ ท่ามกลางข้อมูล’ลวง’

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สร้างคนไทยให้รอบรู้เรื่องสุขภาพ ท่ามกลางข้อมูล'ลวง' thaihealth


สร้างคนไทยให้รอบรู้เรื่องสุขภาพอย่างไร ท่ามกลางข้อมูล'ลวง หลอก'ในยุคดิจิทัล


การประชุมวิชาการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิด "10 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติสู่สังคมสุขภาวะ" โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้มีการหยิบยกประเด็นความรอบรู้ด้านสุขภาพขึ้นมาถกในห้องย่อยเสวนา "ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) สำคัญไฉน"


ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยแล้วไม่ทราบกลุ่มโรคก็มักค้นหาจากอินเทอร์เน็ต และคำตอบที่ได้ก็ไม่ใช่อาการหรือวิธีการรักษาโรคอย่างแท้จริง จากที่ปวดท้องเพียงเล็กน้อยกลับพบคำตอบให้หลงเชื่อว่าเป็นโรคร้ายแรง เนื่องจากปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารมากขึ้น ทำให้ขาดการคัดกรองและไม่มีหน่วยงานโต้ตอบหรือยืนยันความถูกต้องอย่างทันท่วงที ในทางขนานกันชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลก็ยังคงมีความเชื่อดั้งเดิมที่เชื่อกันว่าพิธีกรรมบางอย่างจะช่วยรักษาอาการต่างๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนทั้งสิ้น


"ความรอบรู้ด้านสุขภาพเป็นหัวใจหลักของงานส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวยังคงน่าเป็นห่วงจากการเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง หัวใจและหลอดเลือด ซึ่งล้วนมีปัจจัยจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่สามารถควบคุมได้เอง เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ กินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ไม่ออกกำลังกาย รวมถึงสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์" ดร.ณัฐพันธุ์กล่าว


สร้างคนไทยให้รอบรู้เรื่องสุขภาพ ท่ามกลางข้อมูล'ลวง' thaihealth


พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตและพิธีกรรายการชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนมีความรอบรู้ในการใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย ทำให้โดนหลอกด้านข่าวสารบนดิจิทัล ซึ่งจากการทำงานตลอด 3 ปี พบว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่คนมักเข้าใจและส่งต่อกันแบบผิดๆ กว่าร้อยละ 80 คือข้อมูลสุขภาพ ใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1.การหลอกลวงทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอม แอคเคาต์ปลอม เว็บไซต์ปลอม รวมถึงการขายยา/ผลิตภัณฑ์ปลอม 2.ความแตกต่างของแพทย์ต่างแผนในการใช้ศัพท์วิชาการที่ต่างกัน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เช่น ล้างไต ในแพทย์แผนไทยคือการขับปัสสาวะ ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันให้ความหมายว่าคือการฟอกเลือกบำบัดทดแทนไตที่ไม่ทำงานแล้ว และ 3.การที่แพทย์ให้ความเห็นต่างกัน


ด้านองค์กรภาคประชาสังคมที่ช่วยผลักดันข้อเท็จจริงเรื่องสุขภาพ ผศ.เนตรนภา ขุมทอง กรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน เล่าว่า จากการสำรวจความรอบรู้สุขภาพของคนชนชั้นล่างเขตเมืองใน 4 อาชีพ ได้แก่ แม่ค้าขายของริมถนน จักรยานยนต์รับจ้าง แม่บ้าน outsource และพนักงานรักษาความปลอดภัย พบว่า มีความรอบรู้ด้านสุขภาพต่ำ จากการที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เนื่องจากปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือมีความพิการทางสายตาและการได้ยิน เป็นปัญหาสำคัญ รวมถึงเมื่อมีปัญหาสุขภาพแล้วส่วนใหญ่มักจะซื้อยามากินเองเนื่องจากหากหยุดงานก็จะไม่มีรายได้


สร้างคนไทยให้รอบรู้เรื่องสุขภาพ ท่ามกลางข้อมูล'ลวง' thaihealth


ผศ.เนตรนภาเล่าต่อไปว่า จากการที่ได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพกับศูนย์เรียนรู้ สสส. หลายครั้ง ได้รับการตอบรับจากประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่สนใจทักษะการดูแลตนเอง โดยทางมูลนิธิใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ด้วยการถ่ายทอดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์และยูทูบ เพื่อส่งต่อความรู้ให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้ง สสส.ได้เข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนในทุกช่องทาง ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูบ อีบุ๊ก เว็บไซต์ อินโฟกราฟิก ทั้งนี้ได้วางแผนในการผลิตหนังสือเสียง Audio book เพื่อเอื้อให้ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาทางสายตา รวมถึงผู้ที่อ่านไม่คล่อง ได้เข้าถึงข้อมูลการดูแลตนเองให้มากขึ้น


นพ.เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง (สสม. กทม.) สะท้อนว่า ปัจจุบันประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กว่าร้อยละ 50 ทำให้ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณร้อยละ 3.9 หรือ 392,368 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ารักษาพยาบาล จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะสำรวจสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย พัฒนาชุดข้อมูลความรู้พื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ตลอดจนพัฒนาให้เกิดชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพ สถานบริการสุขภาพ สถาบันการศึกษา สถานที่ทำงานและโรงงานต่างๆ เป็นองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ


เพราะ 2 ใน 3 ของโรคที่เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพของตัวเอง เพื่อป้องกันก่อนรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสร้างตั้งแต่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน องค์กร และระดับประเทศ

Shares:
QR Code :
QR Code