สร้างกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ให้คนไทยมีสุขภาพ-คุณภาพชีวิตดีถ้วนหน้า

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเครือข่ายแผนอาหารเพื่อสุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เกี่ยวกับเรื่องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการอาหารของประเทศประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ อาหารสุขภาพและโภชนาการ ความปลอดภัยอาหาร และความมั่นคงทางอาหาร โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งจะครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร (ตั้งแต่การผลิต การกระจายอาหาร และการบริโภค)

ข้อมูลที่น่าสนใจที่จะนำมาเสนอให้ผู้อ่านในมิติของสุขภาวะการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพและการผลิตที่ไม่ปลอดภัย ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในสังคมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงของการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป บริโภคผักและผลไม้มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องบริโภคน้ำตาลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเพิ่มขึ้น บริโภคโซเดียมมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2.7 เท่า เด็กไทยที่มีภาวะโภชนาการเกินจะรุนแรงขึ้น ซึ่งหมายถึงว่ามีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ท้วมถึงอ้วน ส่วนมากอยู่ในกรงเทพฯ ภาคกลาง และในเขตเทศบาล อีกทั้งกว่าร้อยละ 80 ของคนในเมืองรับประทานอาหารนอกบ้านตามแผงลอยหรือรถเข็นมีความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย ไม่สะอาด มีสารเคมีตกค้าง ซึ่งข้อมูลทางระบาดวิทยาชี้ว่าผู้บริโภคถึงร้อยละ 35.5 เคยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อและรับประทานในชีวิตประจำวันนั้น ล้วนพบกับสินค้าที่ด้อยคุณภาพ มีสารปนเปื้อน หรือบอกความจริงไม่หมด เช่น รังนก 100% ที่บอกว่ามีคุณค่าทางอาหาร แต่กลับมีรังนกเพียง 1% และมีโปรตีนที่ร่างกายไม่อาจดูดซึม ชาชงที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปมีสีปนเปื้อน ชาเขียวพร้อมดื่มบรรจุขวดไม่มีรายละเอียดในฉลากบอกปริมาณกาเฟอีน หรือบอกมีกาเฟอีน 8.10 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ซึ่งบรรจุอยู่ขนาด 420 มิลลิลิตร ความน่าสนใจก็คือว่า ส่วนใหญ่บริโภคชาเขียวพร้อมดื่มแก้กระหายแทนน้ำเปล่าเกินวันละ3 ขวดต่อวัน ลูกชิ้นมีสารกันบูด ของแห้งมีสารตกค้าง อีกทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จรูป และเครื่องปรุงสำเร็จรูปมีส่วนผสมของโซเดียม(เกลือ) เกินกว่าปริมาณที่ร่างกายบริโภคต่อวัน

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ปัญหาการทำการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กในประเทศไทยถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการโน้มน้าวให้เกิดการใช้นมผสมมากกว่าการดื่มนมแม่ซึ่งส่งผล กระทบต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือน ระบบเศรษฐกิจ และระบบบริการสาธารณสุข เช่น การแจกตัวอย่างอาหารทารกและเด็กเล็ก ของขวัญแก่แม่ ร้านขายยา โรงพยาบาล คลินิก สำนักงานประกันสังคม สถานีอนามัย ที่ว่าการอำเภอ หรือแม้กระทั่งมีพนักงานการตลาดติดต่อหญิงมีครรภ์ แม่ และครอบครัวโดยตรง ซึ่งมีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการโฆษณานมผงและอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กเพียง 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายว่าด้วยอาหาร พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 21 ซึ่งไม่ครอบคลุมกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ของผู้ประกอบการธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเกินกว่ากฎหมายจะตามได้ทัน

สำหรับความปลอดภัยทางอาหาร มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรอยู่ในระดับอันตรายร้ายแรง เนื่องจากมีการผลิตและการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายและมีความเป็นพิษสูง ซึ่งนอกจากสารพิษจะตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคจากการบริโภคผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างด้วย โดยเฉพาะผักที่ผู้บริโภคนิยมซื้อมารับประทาน เช่น กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และรถเร่แผงลอย

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้คณะทำงานพิจารณาปรับการทำงานแบบเชิงรุกเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานแผนอาหารเพื่อสุขภาวะในปี2556 เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่กลไกการทำงานของหน่วยงานภาครัฐบางแห่งยังไม่เห็นถึงความสำคัญเรื่องดังกล่าวในการรณรงค์ต่อการเลือกบริโภค รวมถึงกลไกทางสังคม เครือข่ายผู้บริโภค สื่อมวลชนและภาคประชาชน ยังขาดความเข้มแข็งและต่อเนื่องในการต่อต้านต่อระบบทุนนิยม ความเห็นแก่ตัวของสถานประกอบ ดังนั้น แผนงานดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายทุกภาคส่วน โดยหวังว่าพลังดังกล่าวจะสามารถสร้างกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า พร้อมทั้งกำจัดผู้ประกอบการนอกรีดออกจากระบบ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Shares:
QR Code :
QR Code