สรพ.ดึงชุมชนดูแลผู้ป่วยด้วยใจ
สรพ. เล็งหยั่งรากแก้วโครงการ sha สู่สถานีอนามัย เน้นร่วมชุมชนดูแลผู้ป่วยด้วยใจ
รศ. นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ คณะกรรมการบริหารคณะที่ 6 แผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนางดวงสมร บุญผดุง รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ในฐานะผู้จัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน หรือ sustainable health care & health promotion by appreciation & accreditation (sha) นำทีมผู้บริหารเดินทางตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน ที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ และ โรงพยาบาลพระยืน จ.ขอนแก่น
รศ. นพ.อำนาจ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงของบุคลากรในโรงพยาบาล โดยใช้หลักวิธีคิดแบบมีจิตสำนึก โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านมุมมองของคนในพื้นที่ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน และโรงพยาบาล ส่งผลให้ชุมชนสามารถดูแลตนเองจนและเข้มแข็ง ทั้งนี้ยังกล่าวว่า การบริการทางจิตใจ ด้วยความรัก ความห่วงใย จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งบุคคลากรทางการแพทย์กับประชาชนผู้มารับบริการได้
“โครงการ sha อาจทำให้คนสองกลุ่มเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าเกิดอะไรบกพร่อง ผู้ป่วยคงเข้าใจว่าหมอไม่ได้ตั้งใจ เพราะหมอทำเต็มความสามารถแล้ว” รศ. นพ.อำนาจ กล่าว
ด้าน นางดวงสมร บุญผดุง กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อสำรวจความพร้อมสำหรับการจัดงาน “sha conference & contest เรื่อง ha และ sha ลดช่องว่างระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์กับผู้รับบริการอย่างไร” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15-17 ธ.ค. 2553 ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยจะเป็นการแสดงผลงานของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมในโครงการกว่า 120 แห่ง โดยใช้มิติทางจิตใจผสมผสานจนเกิดงานคุณภาพขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตาม โครงการ sha จะสิ้นสุดการดำเนินงานในเดือน ก.พ. 54 ซึ่งทางสถาบันได้มีแผนการวางรากแก้วสู่สถานีอนามัยในตำบลไว้แล้ว
“ในปีต่อไปเราคิดว่าจะให้โรงพยาบาลที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ sha มาแล้ว เป็นพี่เลี้ยงสถานีอนามัย ถ่ายทอดประสบการณ์หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำแนวคิดมิติด้านการดูแลด้วยหัวใจไปพัฒนาการดูแลผู้ป่วยในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น” นางดวงสมร กล่าว
คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีระบบการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เหมือนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ sha ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป สำหรับโครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” เพื่อต่อยอดการพัฒนาคุณภาพที่ดำเนินมาด้วยกระบวนการ ha และกระตุ้นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของบุคลากรในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติควบคู่กับการรักษาพยาบาล สามารถทำงานอย่างมีความสุข สร้างสุขภาวะทางสังคมโดยการสร้างเสริมสุขภาพให้ครบทุกมิติ ทั้ง กาย ใจ สังคม และปัญญา เกิดการขยายตัวของระบบบริการสุขภาพที่เชื่อมโยงกับชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการและระดมใช้ทรัพยากร ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอย่างคุ้มค่า
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update : 13-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน