“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17” พลิกโฉมกำลังคน – ท่องเที่ยวแนวใหม่ สร้างสมดุลเศรษฐกิจควบคู่สุขภาวะยั่งยืน

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                   “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17” พัฒนานโยบายสาธารณะระดับชาติ ร่วมหาทางออก “พลิกโฉมกำลังคน – ท่องเที่ยวแนวใหม่” สร้างสมดุลเศรษฐกิจยุคใหม่ควบคู่สุขภาวะไทยยั่งยืน “เดชอิศม์” เปิด 8 ประเด็นรัฐบาลฝ่าความท้าทาย ภาคีเครือข่ายฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนสุขภาพ-ความเป็นอยู่ที่ดี ตามมติสมัชชาอนามัยโลก


                   เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ที่ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า เศรษฐกิจกับสุขภาพถือเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ความท้าทายของไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น และประเทศยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างในแง่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมที่จะส่งผลกระทบในหลายมิติ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนว่า การบูรณาการระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน รวมถึงแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว และแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ จึงมีความสำคัญมาก


                   นายเดชอิศม์ กล่าวต่อว่า สช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน และติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือ คมส. ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ สนับสนุนความร่วมมือในการขับเคลื่อนมติ สำหรับระเบียบวาระที่จะให้การรับรอง เพื่อเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 2 ระเบียบวาระ 1. “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” 2. “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” โดยจะเชื่อมโยงเรื่องของสุขภาพกับเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาควบคู่กันไปได้อย่างสมดุล โดยการพัฒนาเศรษฐกิจต้องไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเรื่องระบบสุขภาพของประเทศ ถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และนำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


                   “กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นกระบวนการพัฒนาที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน ในฐานะรัฐบาลจึงอยากใช้โอกาสนี้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน มุ่งขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ 1. การมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยพิบัติ 2. การใช้ศักยภาพของเครือข่ายสุขภาพในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรค 3. การรับมือกับโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 4. การเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ด้านโครงสร้างประชากร 5. ให้ความสำคัญกับข้อมูลของระบบสุขภาพ ดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ 6. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบสุขภาพท้องถิ่น 7. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน 8. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพื่อสุขภาพ โดยใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นฐาน” นายเดชอิศม์ กล่าว


                   ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง ข้อท้าทายต่อการลดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเพื่อลดมูลค่าความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจ ว่า สำหรับโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs มี 5 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ 1. การดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันไทยสามารถลดอัตราการดื่มแบบหนักได้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา แต่เกิดกลุ่มเป้าหมายการตลาดใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเด็ก และสตรีมากขึ้น นอกจากนี้กำลังมีการแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ที่อาจทำให้เกิดการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การซื้อขายผ่านออนไลน์ ซึ่งต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด 2. การสูบบุหรี่ แม้ว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าในการลดอัตราการสูบบุหรี่จาก 30-40% เหลือ 17% แต่ยังพบปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็ก และเยาวชนมากกว่า 1 แสนคน 3. การรับประทานอาหาร รัฐบาลได้แก้ปัญหาด้วยมาตรการทางภาษี ซึ่งประสบความสำเร็จในการเก็บภาษีความหวาน และความพยายามต่อไปคือภาษีความเค็ม 4. พฤติกรรมเนือยนิ่ง ที่จะส่งผลกระทบเชิงลบในสุขภาพระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่ขยับร่างกายน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ 5. ปัญหาด้านมลพิษ หรือฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต


                   “ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วย NCDs มากกว่า 74% นำมาสู่การเสียชีวิตมากกว่าปีละ 400,000 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพต่าง ๆ นับเป็นความท้าทายของสมัชชาสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านประชากรกลุ่มเฉพาะที่ต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจง เพื่อสร้างสุขภาพดีในองค์รวม เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มความเชื่อทางศาสนา กลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างมาตรฐาน กฎระเบียบกติกา ที่มีหลักฐานข้อมูลวิชาการรองรับ รวมถึงศึกษาปัญหาความต้องการ หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันลดผลกระทบจาก NCDs และสร้างสุขภาพดีให้กับสังคม” นพ.ไพโรจน์ กล่าว


                   ศ.คลินิก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองประธาน คมส. กล่าวถึงการรายงานความก้าวหน้ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ว่า เรื่องการขจัดความยากจนตามแนวคิด BCG ยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือน และการจัดการเชิงระบบ มีความก้าวหน้าที่สำคัญ 1. รัฐบาลเห็นชอบแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้ประชาชน 2. กรมควบคุมโรคได้จัดแผนปฏิบัติการด้านการป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อของไทยระยะ 5 ปี 3. สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สสส. กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชน จัดทำเมนูสูตรอาหาร และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นลดโซเดียม 77 จังหวัด 4. กลุ่มมติเกษตรอาหารความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร บรรจุเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 5. สวนผักคนเมือง ร่วมกับ สสส. เพื่อสร้างรูปธรรมพื้นที่ผลิตอาหารในชุมชนเมือง มติต่าง ๆ อย่างมีข้อท้าทาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทุกกลุ่ม เพื่อร่วมการดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code