สมอ. เตือน “รางปลั๊กไฟ” ไร้คุณภาพ เสี่ยงไฟช็อต
เร่งออกกฎหมายบังคับใช้ 3 มีนาคม 2551 นี้
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “ฉลาดซื้อ” เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ ลานสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นการแถลงข่าวผลการทดสอบรางปลั๊กไฟ "เสียบไม่เสียว : รางปลั๊กไฟยี่ห้อไหนปลอดภัยต่อบ้านคุณ"
นายวีรพันธ์ รังสีวิจิตรประภา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการทดสอบรางปลั๊กไฟว่า เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา วารสารฉลาดซื้อได้ทดสอบรางปลั๊กไฟ โดยจัดซื้อรางปลั๊กไฟจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั่ว กทม. จำนวน 18 ชิ้น ขนาด 3-6 เต้ารับ มีราคาตั้งแต่ 59-660 บาท ส่งให้สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทดสอบคุณภาพพบว่า รางปลั๊กไฟทุกยี่ห้อไม่ได้มาตรฐานเรื่องความความยาวสายไฟตรงตามที่ระบุไว้ในฉลาด เฉลี่ยความยาวหายไปอย่างต่ำ 10 ซม.ขึ้นไป และตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ผ่านมาตรฐานด้านความทนของวัสดุฉนวนต่อความร้อนผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ในที่สุด โดยมีตัวอย่างผ่านมาตรฐานเพียง 5 ยี่ห้อเท่านั้น และที่น่าตกใจคือมีเพียงตัวอย่างเดียวที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย 4 ด้าน
นายวีรพันธ์ กล่าวว่า มาตรฐานที่ทดสอบเน้นมาตรฐานหลัก 5 ด้าน คือ 1.ความต้านทานของฉนวนและแรงดันไฟฟ้า คือป้องกันการเกิดไฟดูด 2.อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เต้ารับจะต้องไม่ร้อนมาก 3.แรงที่ใช้ในการดึงเต้าเสียบ เต้ารับไม่หลวม หรือแน่นเกินไป 4.ความทนของวัสดุฉนวนต่อความร้อนผิดปกติ หากปลั๊กไฟเกิดไฟลุกไหม้ไฟจะดับได้ด้วยตัวเองภายในเวลา 30 นาที จึงถือว่าได้มาตรฐาน และ 5.ความยาวของสายไฟ ต้องตรงตามที่ระบุในฉลาก
“วิธีการเลือกซื้อรางปลั๊กไฟที่มีความปลอดภัย ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุได้มาตรฐาน เป็นพลาสติกเอวีซี เพราะมีความคงทนต่อความร้อนดีกว่าพลาสติกพีวีซี สังเกตได้จากเนื้อพลาสติกจะเนียนกว่า รางปลั๊กไฟควรมีสวิตช์ปิด-เปิด และมีฟิวส์ ช่วยในการตัดกระแสไฟ หากมีการใช้ไฟเกินกว่าที่รางปลั๊กไฟกำหนด หรือเลือกสินค้าที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)” นายวีรพันธ์ กล่าว
ด้านนายสมคิด แสงนิล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่าปัจจุบันมีมาตรฐานควบคุมความปลอดภัยของรางปลั๊กไฟมีเพียงมาตรฐานเดียวคือ มาตรฐานไฟฟ้า (มอก.11-2531) ขณะที่ผู้บริโภคเมื่อเห็นตรา มอก. ก็เข้าใจผิดคิดว่าได้มาตรฐานแล้ว ทั้งที่ส่วนฉนวนหุ้มรางปลั๊กไฟยังไม่มีมาตรฐานบังคับแต่อย่างใด ซึ่งกฎหมายควบคุมขั้นตอนการผลิตและวัสดุที่นำมาผลิตรางปลั๊กไฟที่มีคุณภาพจะมีมาตรฐานบังคับใช้ในวันที่ 3 มี.ค. 2551 นี้
ที่มา
ข่าว/ภาพประกอบ ผกาทิพย์ ล่องสินธู กมลวรรณ ประเสริฐผาติกุล team content www.thaihealth.or.th
update 25-12-50