สมรสเท่าเทียม ก้าวใหม่ให้คนเท่ากัน

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานเวทีสาธารณะสมรสเท่าเทียมกับมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย
ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
                    “…แม้สถานการณ์ทางสังคมในประเด็นความหลากหลายทางเพศ หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ศ. 2567 แล้ว แต่ยังมีมุมมองที่แตกต่าง บ้างเห็นว่าสิทธิในการสมรสเป็นเรื่องของความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ขณะที่อีกฝ่ายกังวลว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งผิดปกติ ขัดต่อขนบธรรมเนียมดั้งเดิม และอาจกระทบต่อสถาบันครอบครัว 
                    อย่างไรก็ตาม สมรสเท่าเทียมไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่เข้าใจและเคารพกันมากขึ้น เมื่อกฎหมายเปลี่ยนแปลงแล้ว  แต่ทัศนคติของสังคมยังต้องการเวลาในการปรับตัว”
                    สอดรับกับข้อมูลการคาดประมาณขนาดประชากรหลากหลายทางเพศและสถานการณ์ชีวิตและสุขภาพของ LGBTIQN+ ที่ สสส. ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า มีประชาชนทั่วไปมากถึง 6% ยังคงมองว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มที่ผิดปกติ
                    คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวในโอกาสที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) และภาคีเครือข่าย  เปิดเวทีสาธารณะสมรสเท่าเทียมกับมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย  ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา
                    วันนี้เราจะสรุปผล การรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ จากเวทีสาธารณะสมรสเท่าเทียมกับมุมมองที่แตกต่างหลากหลายมาให้รับทราบกัน
                    โดยที่ผ่านมาก่อนมีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม กลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะต้องเผชิญกับปัญหานที่ใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่มีสิทธิ์ทางกฎหมาย ในหลาย ๆ ด้านมากมาย อาทิ การไม่มีสิทธิในทรัพย์สินและมรดก การรับบุตรบุญธรรม การจัดการพินัยกรรม ธุรกรรม สวัสดิการรักษาพยาบาล จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่เทียบเท่าคู่สมรสโดยทั่วไป
                    แต่ปัจจุบันคู่สมรสเพศเดียวกันได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายเท่าเทียมกับคู่ชาย-หญิง ทุกด้านอย่างครบถ้วนแล้ว จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเสมอภาคในสังคม  แต่ความท้าทายที่เหลืออยู่คือ “การอยู่ร่วมกัน” อย่างเคารพและเข้าใจ
                    ขณะที่ มุมมองตรงกันข้าม เหตุผลที่สังคมจำนวนหนึ่งในไทย ยังไม่ยอมรับสมรสเท่าเทียม มองว่า ไทยมีรากฐานจากสังคมพุทธและวัฒนธรรมครอบครัวต้องมีพ่อแม่ ชาย-หญิง  สมรสเท่าเทียมเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมเร็วเกินไป ชีวิตคู่เพศเดียวกันขาดเสถียรภาพ เพราะไม่ได้เกิดจากการจับคู่แบบธรรมชาติ
                    บ้างกังวลว่า คู่สมรส LGBTQ+ จะมีอัตราการหย่าร้างสูงกว่าคู่ชาย-หญิง อาจทำให้เด็กขาดแบบอย่างของพ่อแม่ ชาย-หญิง อาจกระทบต่อการรับบุตรบุญธรรม และการสอนเด็กให้เข้าใจบทบาทครอบครัว
                    “กฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ สสส.ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการผลักดันข้อเสนอใน 4 ประเด็น  เริ่มต้นจากสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนถึงความแตกต่างหลากหลาย ด้านวัฒนธรรมและศาสนาเข้าใจแนวคิดความหลากหลายทางเพศ  พัฒนาบริการให้คำนึงถึงความละเอียดอ่อน และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงออกกฎหมายที่สนับสนุน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเพิ่มเติม เพื่อการจัดการสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ให้ครอบคลุมเรื่องเพศศึกษาและความเท่าเทียมทางเพศ”  คุณภรณี กล่าว
สิ่งสำคัญจากนี้ไป คือ การหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และสร้างสังคมที่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข
                    ขานรับโดย ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณะสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวถึงการขับเคลื่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า
                    ประเทศไทยเริ่มต้นขับเคลื่อนประเด็นสมรสเท่าเทียมโดยภาคประชาชน มาตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งปี 2555 ภาครัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีการสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการและข้อมูลเชิงลึกจาก สสส.เพื่อสังคมมีเข้าใจกันมากขึ้น
                     “ ทำให้ในปัจจุบันมีการเลือกปฏิบัติที่น้อยลง และในภาคส่วนต่าง ๆ มีการปรับตัวมองคนหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มคนที่ปกติกันมากขึ้น  โดยหลังจากที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างประชากร ที่จะไม่ใช่แค่ครอบครัวชายหญิงอย่างเดียวอีกต่อไป และกฎหมายเพื่อรองรับอัตลักษณ์ทางเพศก็จะยังคงมีการขับเคลื่อน  เพื่อสังคมเกิดความระวังในการเลือกปฏิบัติมากขึ้น  ” ผศ.รณภูมิ กล่าว
                    สอดรับกับ ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือปัจจัยสำคัญในการสร้างความเป็นกลางทางเพศ เปลี่ยนคำระบุบทบาททางเพศ จากสามี-ภรรยา สู่คำว่า “คู่สมรส” เปิดโอกาสให้ทุกบุคคลสามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่ของตนเองได้”
                    “ในช่วงของการพัฒนาตัวบทกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราได้ศึกษาทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นสมรสเท่าเทียมสำหรับผู้ที่ต้องทำงานขับเคลื่อนตัวกฎหมายฉบับนี้อย่างเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฏหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสื่อสารกับหน่วยงานรัฐให้เกิดความเข้าใจในความหลากหลายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างเต็มที่
                    รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในการเปิดรับประเด็นสมรสเท่าเทียมให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานของภาคประชาสังคมได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน”  ผศ.ดร.นรุตม์ กล่าว
                    ด้าน คุณกฤษฏิ์ธนัฐ ณ เชียงใหม่ คู่รักสมรสเท่าเทียม ได้กล่าวถึงประสบการณ์หลังการบังคับใช้พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมว่า “ตนคบหาดูใจกับแฟนมา 15 ปี ก่อนมีการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ตนมีอุปสรรครอบด้าน ทั้งสายตาจากสังคมที่ดูถูกว่าไม่ปกติ รวมถึงการมีข้อจำกัดทางธุรกรรม หลังจากได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องแล้ว รู้สึกว่าครอบครัวสมบูรณ์มากขึ้น และในอนาคตอยากให้มีการขยายผลใช้กฎหมายเพื่อการรับรองบุตรเพิ่มเติมด้วย”
                    การเปิดเวทีเสวนาของ สสส. เพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะสมรสเท่าเทียม กับ มุมมองที่แตกต่างหลากหลายอย่างเคารพซึ่งกันและกัน  เท่ากับแบ่งปันความรู้โดยไม่บังคับการเข้าใจความแตกต่าง คือ การพัฒนาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่ “ใครถูกหรือผิด” แต่เพื่อสุขภาวะที่เท่าเทียมในสังคมต่อไป
Shares:
QR Code :
QR Code