“สภาฯ-สสส.” จับ ขรก.สภาฯ วางแผนชีวิตเพื่อสุขภาพจิตดี
ที่ห้องกรุงธนบอลล์รูม รร.รอยัลริเวอร์ สำนักพัฒนาบุคลากร สภาผู้แทนฯ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรทางนิติบัญญัติ จัดสัมมนา “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ” รุ่นที่ 3 โดย นพ.เฉก ธนะสิริ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ เป็นวิทยากรหัวข้อ “วิธีการดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ”
โดยระบุว่า 1. การทำให้มีความสุขและอายุยืนยาวเกิน 100 ปี คือ การที่ต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพกายและใจให้ดีอยู่เสมอ ด้วยการนั่งสมาธิถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตมีความสุข 2. ผู้สูงอายุทรงพลัง คือ ต้องเป็นบุคคลที่ปราศจากโรค หลีกเลี่ยงภาววะซึมเศร้าให้ความสำคัญกับการให้กำลังใจตนเองเป็นสำคัญ อย่าปล่อยให้ตนเองอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวเดียวดาย เพราะอาจจะทำให้เกิด “โรคสมองเสื่อม” 3. ลมหายใจ-น้ำและพืชพรรณธัญญาหาร คือ ชีวิต คือ ลมหายใจ ให้พลังงานกับหัวใจและปอดช่วยให้การเต้นของหัวใจแข็งแรง เช่นเดียวกับอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตยืนยาวได้ถ้ากินอาหารที่ถูกต้อง 4. ศิลปะของการใช้ชีวิต คือ ควรสร้างเสริมภูมิต้านทานให้ตนเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง หมั่นตรวจสุขภาพออกกำลังกายและทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม นพ.เฉก ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าสัมมนาได้ชักถามข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ เช่น ภาวะด้านอารมณ์สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทอง โทษของการสูบบุหรี่มีความเสี่ยงอายุสั้นกว่ามาตรฐาน 20 ปี ร่วมถึงการปฏิบัติตนสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคกรดยูริก ถึงหลักการรับประทานอาหาร และการปฏิบัติตนที่ถูกต้องโดยไม่ต้องพึ่งพาแพทย์แผนปัจจุบัน
ขณะที่ นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์อิสสระ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ บรรยายในหัวข้อ “วางแผนชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี” โดยระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตสาเหตุเกิดจากแนวความคิดผิดปกติทางด้านจิตใจ ส่วนปัญหาทางอารมณ์แปรปรวนเกิดจากความวิตกกังวลในสิ่งที่เกิดยังไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจเป็นโรคติดสารเสพติด ซึ่งสาเหตุเกิดจากการใช้ยาบางตัวเกินขนาด หรือในบุคคลที่ใช้สารเสพติด ขณะที่ปัญหาด้านบุคลิกภาพ สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมชอบตำหนิผู้อื่น ทั้งนี้ เราควรรู้จักตนเองทางด้านกายภาพ และการดูแลสุขภาพจิต และเสริมสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง คือ “จิตเป็นกาย นายเป็นบ่าว”
อย่างไรก็ตาม นพ.กัมปนาท ยังกล่าวถึง การคลายความเครียดในการทำงานทำได้ด้วยการออกกำลังกาย จะส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน endorphin ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลดีต่อร่างกาย ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการฝึกสร้างพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ คือ ควรรู้จักควบคุมอารมณ์สังเกตอารมณ์ของตนที่จะเกิดขึ้นหลังแสดงออกว่ามีผล เสียหรือผลดีตามมาอย่างไร คิดอย่างใช้เหตุผลและควรมองโลกในแง่ดีก่อนเสมอ เพราะจะทำให้ลดการวิตกกังวลลงได้ พร้อมกันนี้ยังให้ผู้เข้าร่วมทำแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ และแบบประเมินวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า