สปสช.ย้ำบัตรทองรักษาคลินิกนอกเวลา

ที่มา : มติชน 


สปสช.ย้ำบัตรทองรักษาคลินิกนอกเวลา thaihealth


แฟ้มภาพ


อนุ กก.ควบคุมคุณภาพฯ สปสช.ย้ำ รพ.รัฐเปิดคลินิกพิเศษแยกห้องฉุกเฉินได้ เพื่อกรองคนไข้เข้าบริการ เพียงแต่หากเจ็บป่วยไม่เข้าเกณฑ์วิกฤต รักษานอกเวลาราชการต้องจ่ายเพิ่ม


ตามที่โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการขึ้น แยกต่างหากจากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เพื่อแยกผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินวิกฤตออก จนเกิดคำถามว่า หากผู้ป่วยบัตรทองป่วยและไม่ฉุกเฉินจนต้องไปใช้บริการคลินิกพิเศษจะต้องจ่ายค่ารักษาเองหรือไม่


นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ครอบคลุมบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งมีหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศร่วมกันดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอเวลาเพื่อรับบริการต่างจากผู้ป่วยทั่วไป ทำให้หลาย โรงพยาบาลจัดบริการห้องฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากข้อมูลการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลพบว่า ในช่วงนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน บางแห่งมีจำนวนมาก จึงจัดแยกบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ อย่างคลินิกพิเศษ ออกจากบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน


"การแยกส่วนเช่นนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน และยังลดความแออัดห้องฉุกเฉิน ป้องกันความขัดแย้งจากการรอรับบริการที่แพทย์จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ทั้งลดแรงกดดันปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่เนื่องจากทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งด้านบุคลากรที่ให้บริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ จึงต้องจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานของกองทุนรักษาพยาบาลที่ได้รับ" นพ.ชาตรีกล่าว


นพ.ชาตรีกล่าวว่า ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่รับบริการนอกเวลาราชการในโรงพยาบาลที่แยกบริการรองรับ ที่เป็นหน่วยบริการตามสิทธิขึ้นทะเบียนบัตรทอง การเบิกจ่ายค่ารักษายังเป็นไปตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น เพียงแต่ต้องจ่ายสนับสนุนค่าจัดบริการเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน แต่ยืนกรานจะรับบริการที่ห้องฉุกเฉินก็เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก อย่างไรก็ตาม ในการจัดบริการนอกเวลาราชการสำหรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางปฏิบัติชัดเจน แต่อาจยังทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับมีโรงพยาบาลที่เปิดบริการนอกเวลาราชการมากขึ้น จึงมีเรื่องร้องเรียนมายัง สปสช. เพื่อเน้นสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า สิทธิบัตรทองของประชาชนที่ได้รับไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน

Shares:
QR Code :
QR Code