สธ.แนะเลี่ยงแสงแดด ป้องกันมะเร็งผิวหนัง

“รมช.สาธารณสุข เผยข้อมูลการเฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 2553-2554 ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด 38 ตัวอย่าง พบไม่เข้ามาตรฐาน 2 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5.3 เนื่องจากตรวจพบปริมาณสารป้องกันแสงแดดต่ำกว่าฉลากระบุ เกินเกณฑ์ยอมรับค่าคลาดเคลื่อน2 ตัวอย่าง ชี้คนผิวขาวมีโอกาสเกิดมะเร็งที่ผิวหนังมากกว่าคนผิวคล้ำ พร้อมแนะควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดให้เหมาะกับสภาพผิว”

แนะเลี้ยงแดด ป้องกันมะเร็ง

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แสงแดดที่ส่องลงมาบนพื้นโลก ประกอบด้วยคลื่นแสงมากมาย แต่ที่มีผลกระทบกับผิวมนุษย์มากที่สุดคือ รังสีอัลตราไวโอเลต (uitraviolet ray, uv) ซึ่งมีปริมาณร้อยละ 10 ในแสงแดด แบ่งเป็นรังสี อัลตราไวโอเลตชนิด a (uva) ร้อยละ 9.5 และรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด b (uvb) ร้อยละ 0.5 ในแสงแดด รังสีทั้ง 2 ชนิดนี้มีประโยชน์และโทษแก่ผิวหนัง โดย uva มีความสามารถทะลุทะลวงและทำลายผิวหนัง ทำให้ผิวแก่ ผิวหนังหนา หยาบกร้าน และมีสีคล้ำขึ้น (tanning) เนื่องจากเกิดการกระตุ้นเซลล์เม็ดสีให้สร้างเม็ดสี (melanin pigment) เพิ่มมากขึ้น ส่วน uvb จะทำให้เกิดอาการผิวหนังร้อนแดง (erythema) หรือเกิดอาการที่เรียกว่าถูกแดดเผา (sunburn) ทำให้ปวดแสบ ปวดร้อน นอกจากนี้รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ผิวหนัง โดยคนผิวขาวจะมีโอกาสเกิดมะเร็งที่ผิวหนังมากกว่าคนที่ผิวคล้ำ ดังนั้นจึงควรปกป้องผิวจากแสงแดดให้มากที่สุด โดยหลีกเลี่ยงการตากแดด หรือสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารป้องกันแสงแดด ทาปกปิดผิวหนังในขณะมีกิจกรรมกลางแจ้ง

จากข้อมูลการดำเนินงานเฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ในปี 2553-2554 ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดเพื่อวิเคราะห์สารป้องกันแสงแดดที่ทำหน้าที่สะท้อนแสง และวิเคราะห์ปริมาณสารป้องกันแสงแดดที่สามารถดูดกลืนรังสี uva หรือ uvb รวม 38 ตัวอย่าง พบว่า ไม่เข้ามาตรฐาน 2 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5.3 เนื่องจากตรวจพบปริมาณสารป้องกันแสงแดด 2 ชนิด ได้แก่ สารออกทิล เมททอกซีซินนาเมท (octyl methoxy cinnamate ) และสารบิวทิล เมททอกซีไดเบนโซอิล มีเธน (butyl methoxydibenzoyl methane) มีปริมาณต่ำกว่าฉลากระบุ เกินเกณฑ์ยอมรับค่าคลาดเคลื่อน2 ตัวอย่าง

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2536 เรื่องกำหนดเกณฑ์ค่าคลาดเคลื่อนของสารสำคัญในเครื่องสำอางให้มีได้น้อยกว่าไม่เกินร้อยละ 15 หรือมากกว่าไม่เกินร้อยละ 18 ตามที่แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือที่ระบุไว้ในฉลาก สำหรับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ควรเลือกผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่สามารถป้องกันได้ทั้งรังสี uva และ uvb ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจะมีการระบุค่า spf ที่แสดงถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดในการป้องกันรังสี uvb ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดมีค่า spf เท่ากับ 15 หมายความว่า เมื่อทาผลิตภัณฑ์นี้แล้วสามารถทนแดดได้นานมากกว่าเดิม 15 เท่า คนผิวขาว เมื่อถูกแสงแดดจะแดงง่ายกว่าคนที่มีผิวคล้ำดังนั้นคนที่มีผิวคล้ำอาจใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า spf เท่ากับ 6-14 ในขณะที่คนผิวขาวหรือคนที่เป็นกระหรือมีรอยด่างดำ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า spf เท่ากับ 15 หรือมากกว่านั้น และควรทาทิ้งไว้ 15-30 นาที ก่อนที่จะออกสู่แสงแดด

นอกจากนี้ยังมีค่าประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันรังสี uva เรียกว่า ค่า ppd (persistent pigment darkening) โดยแสดงค่าของ ppd ในรูป pa+, pa++ และ pa+++ ซึ่งค่า pa+++ เทียบเท่าค่า ppd เท่ากับหรือมากกว่า 8 ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่าผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีประสิทธิภาพดีควรมีค่าอัตราส่วนระหว่าง spf กับ ppd ไม่เกิน 3 ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดมีทั้งที่เป็นครีม โลชั่น เจล สำหรับคนที่มีผิวค่อนข้างมัน หรือเป็นสิว ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่เป็นโลชั่น หรือเจลจะเหมาะสมกว่า เพราะไม่ทำให้เหนียวเหนอะหนะ ส่วนคนที่มีผิวแห้ง ควรเลือกใช้ชนิดครีม เพราะครีมมีส่วนที่เป็นน้ำมันช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้นและไม่ควรใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสารที่อาจทำให้เกิดการแพ้อื่นๆ เช่น สารผสมประเภทแต่งสี แต่งกลิ่น เช่น น้ำหอม หรือส่วนประกอบน้ำมัน จึงควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กับบริเวณผิวที่มีความไว เช่น บริเวณใต้ท้องแขนหรือใต้คาง

    

     

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ