สธ.เผยประชาชนเครียดแห่ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเครียดสูง ซึ่งพบว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ผ่านสายด่วน 1323 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จากปี 2553 จำนวน 102,645 ราย เป็น 193,315 ราย ในปี 2554 ปัญหาที่ขอปรึกษา ได้แก่ ปัญหาสุขภาพจิต อาทิ เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคทางจิต ปัญหาทางเพศ ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาสารเสพติด ปัญหาการทำงาน ปัญหาการฆ่าตัวตาย/ทำร้ายตนเอง
ซึ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความเครียดและความกดดันในชีวิตที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งสาเหตุของความเครียดส่วนใหญ่ยังคงมาจากปัญหาการเงิน ปัญหาการงาน นอกจากนี้ จากรายงานการฆ่าตัวตายของประเทศไทย โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นับแต่ปี 2540-2553 พบว่า วัยแรงงานยังคงเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยช่วงอายุ 20-29 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 15,994 ราย รองลงมาคือ ช่วงอายุ 30-39 ปี และ 40-49 ปี ซึ่งมีจำนวนการฆ่าตัวตายเท่ากันคือ 14,822 ราย ขณะที่ปี 2553 ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด
รมช.สธ. กล่าวต่อว่า จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน หรือพร้อมที่จะทำงาน 38.80 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.4 ของประชากร ซึ่งในที่นี้เป็นผู้มีงานทำ 38.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.1 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงานเป็นชาย 21.13 ล้านคน หญิง 17.67 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม 13.45 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรม อาทิ การผลิต การก่อสร้าง การขายส่ง-ขายปลีก การขนส่ง โรงแรมและบริการ จำนวน 24.61 ล้านคน ขณะที่มีผู้ว่างงาน 2.56 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.7 เป็นชาย 1.59 แสนคน หญิง 0.97 แสนคน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงที่สุด รองลงมาเป็นภาคกลางและภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้ว่า หากแรงงานไทยเกิดความเครียดและไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสมแล้ว ย่อมมีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากที่อาจส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ
นพ.สุรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว และไม่ทราบว่าขณะนั้นตัวเองเครียด จึงพาลให้เกิดการกระทบกระทั่งกับคนรอบข้าง จนถึงทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนร่วมงานผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งส่งผลให้ ไม่มีความสุขในการทำงาน และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการทำงานในอนาคต ทั้งนี้ ความเครียดเป็นสิ่งที่รู้ตัวได้ยาก บางครั้ง คนเราไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะเครียด
หากต้องการทราบสภาวะจิตใจตนเองก็สามารถทำได้โดยใช้แบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิต ซึ่งสามารถหาได้จาก เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th เพื่อทราบถึงระดับความเครียดที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจต้องทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย เพราะบางครั้งความเครียดที่สะสมอาจก่อตัวจนเกิดการป่วยทางใจ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ แนวทางการสังเกตว่าตนเองเครียดหรือไม่ อาจพิจารณาได้จากอาการทางกาย เช่น ใจสั่น ใจเต้นแรง เจ็บหน้าอก ความดันขึ้น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดไหล่ ปวดหลัง ไมเกรน มีปัญหากับการนอน อาการทางใจ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย หลงลืม ฉุนเฉียว ซึ่งหลายคนต้องเข้าออกโรงพยาบาลโดยหาสาเหตุการเจ็บป่วยไม่พบ เนื่องจากความเครียดที่เรื้อรังไม่ได้รับการดูแลจนส่งผลไปถึงระบบทางกายเมื่อเครียดควรหาวิธีคลายเครียด
“สิ่งแรกคือ ไม่ควรคลายเครียดด้วยการใช้แอลกอฮอล์ ควรหากิจกรรมผ่อนคลายทำ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เลือกตามความถนัด ทำแล้วเกิดความสุข อาทิ การออกกำลัง ซึ่งหากออกแรงมากขึ้นก็จะลดทั้งความเครียดและเพิ่มความแจ่มใส หรือการพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ เพราะบางครั้งแค่มีคนรับฟังก็สบายใจแล้ว หรือการควบคุมลมหายใจ การหายใจเข้า-ออก ลึกๆ การทำสมาธิ ทำจิตให้นิ่ง ปล่อยวางปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่มาจุกจิกกวนใจ เพราะจะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกายและใจ รวมทั้ง อาจทำให้เรามองข้ามความสำคัญของปัญหาอื่นไปแทน หรืออาจไปทำบุญ ทำทาน ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเมื่อช่วยเหลือคนอื่นที่มีความทุกข์จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น นอกจากนี้ ควรทำใจให้เป็นกลาง ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสติ ซึ่งจะช่วยลดความผิดหวังได้ส่วนหนึ่ง ตลอดจนเรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่นรวมถึงตัวเอง เพราะไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์ อีกทั้งรู้จักฝึกแก้ปัญหาและรู้จักบริหารเวลา ที่สำคัญคือ การคิดบวก หากคอยจ้องแต่จับผิดกันก็จะทำให้จิตใจเป็นทุกข์ และการมองทุกอย่างในแง่ลบก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เครียดลึกๆ อยู่ในใจ เป็นผลทำให้ไม่มีความสุข
“ดังนั้น ควรมองสิ่งดีที่ยังมีเป็นต้นทุน สร้างพลังใจ พลังความคิด และนึกถึงครอบครัวให้มากที่สุด เพราะครอบครัวคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยประคับประคองดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน ให้สามารถฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปได้ หากทำแล้วไม่ได้ผล ยังเกิดความเครียด หรือเกิดปัญหาความสัมพันธ์ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะความเครียดถือเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่อาจสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นมากมาย” รมช.สธ. กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง