สธ.หวั่นคนไทยติด 5 โรคร้าย

ชี้แรงงานต่างด้าวตัวพาหะ!

 

สธ.หวั่นคนไทยติด 5 โรคร้าย

          สธ.เตือนนายจ้าง-ประชาชนที่อยู่ใกล้ชิดแรงงานต่างด้าวเฝ้าระวังหลังพบ วัณโรค ไข้มาลาเรีย เอดส์ระบาดเพิ่มขึ้น ระบุแรงงานต่างด้าวที่ไม่ลงทะเบียนเสี่ยงสุด พร้อมจับตาโรคอุบัติซ้ำ ทั้งกาฬหลังแอ่น โรคเท้าช้างหวั่นแพร่ระบาด ชี้พบโรคติดต่อจากแรงงานพม่ามากที่สุด

 

          ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นแหล่งขุดทองแหล่งใหญ่ที่ดึงดูดแรงงานต่างด้าวจากรอบๆ ประเทศเข้ามาขายแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานจากพม่า กัมพูชา และสปป.ลาว ซึ่งการเข้ามาขายเหงื่อแลกเงินของแรงงานเหล่านี้ได้นำเอา “โรคอุบัติซ้ำ” หรือ (re-emerging infectious diseases) หมายถึงโรคติดเชื้อที่เคยแพร่ระบาดในอดีตและสงบไปแล้วเป็นเวลานานหลายปี แต่กลับมาระบาดขึ้นอีก ตัวอย่างโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เช่น วัณโรค ไข้เลือดออก มาลาเรีย กาฬหลังแอ่น และโรคเท้าช้าง

 

          เตือนระวัง “วัณโรค” พุ่ง นพ.สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค บอกกับ “ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์” ว่า ในช่วง 5ปีที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคติดต่อเฝ้าระวังโรคติดต่อทั้งโรคติดเชื้อ อุบัติใหม่ (emerging infectious diseases) และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ (re-emerging infectious diseases) อย่างใกล้ชิดพบว่า มีการระบาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็วโดยสาเหตุมาจากการหลั่งไหลเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานสัญชาติพม่า จากเดิมนั้นมีการขึ้นทะเบียนน้อยจึงไม่สามารถรู้ได้ว่าแรงงานเหล่านี้ได้มาพร้อมโรคระบาดอุบัติซ้ำ ซึ่งหายไปจากเมืองไทยแล้วเช่น วัณโรค ไข้มาลาเรีย ไข้กาฬหลังแอ่น และโรคเท้าช้าง แต่หลังจากที่มีการพบการระบาด เราก็เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้มีการควบคุมโดยพยายามประสานไปยังกระทรวงแรงงานให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น “โรคอุบัติซ้ำเกิดจากแรงงานต่างด้าวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องให้มีการขึ้นทะเบียนแล้วทำขั้นตอนการตรวจร่างกายอย่างละเอียดจึงจะจัดการกับปัญหานี้ไม่ให้ลุกลามขยายไปยังประชาชนโดยทั่วไปได้ ทุกวันนี้วัณโรค และไข้มาลาเลียจะยังระบาดในหมู่แรงงานต่างด้าว แต่ก็สามารถจัดการให้อยู่ในกรอบจำกัดที่เราสามารถควบคุมได้” อย่างไรก็ตาม อยากจะเตือนนายจ้างที่แอบจ้างแรงงานโดยไม่มีการขึ้นทะเบียนและตรวจร่างกาย ให้หมั่นตรวจอาการของลูกจ้างว่า หากพบว่ามีการไอมากผิดปรกติควรจะนำลูกจ้างไปพบแพทย์โดยทันที ทั้งนี้เพราะจากการรวบรวมสถิติอย่างไม่เป็นทางการแล้ว เราเชื่อว่าจะมีแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานตามบ้านเรือนทั่วไปจำนวนมาก ซึ่งหากนายจ้างปล่อยปละละเลยอาจจะกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคได้

 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายต่อว่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มพบแรงงานต่างด้าวป่วยเป็นวัณโรคที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อซึ่งเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างและชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 47 ราย ในปี 2547 เป็น 108 รายในปี 2551 และมีอัตราการรักษาหายขาดเพียงร้อยละ 77 และขณะนี้คาดว่ามีแรงงานต่างชาติและผู้ติดตามเข้ามาอยู่ในประเทศไทย 5-6 ล้านคน กำลังมีปัญหาสำคัญคือ การนำโรคติดต่อต่างๆ เข้ามาแพร่กระจายในประเทศด้วย ทำให้หลายโรคที่ไทยเคยควบคุมได้กลับมาเป็นปัญหาอีก อาทิ วัณโรค มาลาเรีย เอดส์ เป็นต้น “จากการวิเคราะห์กลุ่มต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยมีประมาณ 1.7 ล้านคน มีแรงงานผ่านการตรวจสุขภาพตามกฎหมายเพียง 462,236 คน ส่วนใหญ่เป็นพม่า หรือมีประมาณ1 ใน 4 ยังเหลือผู้ที่ไม่ผ่านการตรวจสุขภาพเลยอีกกว่า 1 ล้านคน จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากเพราะคนไทยในเขตเมืองจะเพิ่มความเสี่ยงติดโรคสูงขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวและเราไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้อย่างเด็ดขาด” อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้รับผลการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวล่าสุดจำนวน 462,236 คน พบเป็น วัณโรค เท้าช้าง โรคเรื้อน ซิฟิลิส มาลาเรีย และพยาธิลำไส้ รวม 4,915 คน ในจำนวนนี้อยู่ในระยะแพร่เชื้อ 113 คน ถือว่ามีอันตราย ต้องรับตัวเข้ารักษาและรอส่งตัวกลับประเทศโดยโรคที่พบมากที่สุดคือ วัณโรค ล่าสุดในปีนี้พบเป็นโรค 3,147 คน อยู่ในระยะแพร่เชื้อ 77 คน นอกจากนี้ยังพบปัญหาตั้งครรภ์ปีละกว่า 7,000 คน เพิ่มภาระภาครัฐต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลถึง ปีละ 1,343 ล้านกว่าบาท

 

          จับตาไข้กาฬหลังแอ่น-เท้าช้างระบาด แม้วัณโรคจะเป็นโรคระบาดที่พบมากที่สุดในหมู่แรงงานต่างด้าว แต่โรคกาฬหลังแอ่นและโรคเท้าช้างก็เป็นโรคติดต่ออีกสองชนิด ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะนายจ้างไม่ควรมองข้าม เพราะโรคนี้แม้จะหายไปจากบ้านเราแล้ว แต่ปัจจุบันพบว่า กลับมาระบาดอีกครั้งโดยมีพาหะจากแรงงานต่างด้าว ซึ่งโรคกาฬหลังแอ่นนั้น เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (neisseria meningitidis) ที่มีแหล่งสะสมตามธรรมชาติคือ คนมีการติดต่อได้ด้วยการหายใจเอาเชื้อเข้าไปหรือสัมผัสกับเสมหะ เพราะเชื้อนี้มีคนเป็นแหล่งโรคเท่านั้น

         

โรคนี้พบในประเทศไทยประปราย โดยข้อมูลล่าสุดพบเมื่อปี พ.ศ.2538 โดยมีการระบาดในนักโทษและเสียชีวิต 1 รายและปี 2539 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จากสถิติที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตไม่เกิน 10 รายต่อปี ที่พบและเป็นข่าวโด่งดังก็คือการเป็นไข้กาฬหลังแอ่นของ “สายัณห์ ดอกสะเดา” ดาราตลกชื่อดังนั่นเอง ที่สำคัญตอนนี้เราพบถี่ขึ้นและเริ่มมีการแพร่ระบาดในหมู่แรงงานต่างด้าว แม้พบไม่มากแต่ก็ไม่ควรประมาท”

 

          นอกจาก โรคกาฬหลังแอ่นแล้ว โรคเท้าช้างก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบในบ้านเราถี่ขึ้น จากเดิมที่สามารถควบคุมได้แล้ว ปัจจุบันมีการระบาดแล้วในแถบภาคใต้ที่ติดชายแดนใกล้พม่า และล่าสุดจากการสำรวจต่อมา โดยกองโรคเท้าช้างพบว่า โรคนี้ได้แพร่เฉพาะอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ และบางตำบลของอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดอื่นๆ บริเวณชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน โดยโรคนี้เกิดจากพยาธิตัวกลมที่พบ บ่อยคือเชื้อ wuchereria bancrofti และ brugia malayi ซึ่งอาศัยอยู่ในคนเท่านั้น ซึ่งเชื้อจะเข้าท่อน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง เชื้อจะอยู่ในร่างกายคนได้ 4-6 ปีและออกลูกออกหลานเป็นล้านตัวเข้ากระแสเลือด ยุงกัดคนที่เป็นและรับเชื้อไป เมื่อไปกัดคนอื่นจะปล่อยเชื้อสู่คนอื่นได้โดยผู้ป่วยอาการที่สำคัญคือ มีอาการบวมของอวัยวะที่พบได้บ่อยคือ ขาแขน อวัยวะเพศ “โรคเหล่านี้หากมีการควบคุมไม่ดี และไม่เฝ้าระวังติดตามอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าในไม่ช้าจะกลายเป็นโรคระบาดที่น่ากลัวที่สุดเช่นกัน” รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวในที่สุด

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์

 

update: 20-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code