สถานสงเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบของ “คนไร้บ้าน”

ที่มา : MGR Online

ภาพโดย สสส. 


สถานสงเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบของ


"ไร้บ้าน ไร้ค่า ไร้ที่ไป ชีวิตอยู่ไปวันๆ เป็นภัยต่อสังคม" คือความจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การเหมารวมคนไม่มีบ้านว่าเลวร้ายน่ากลัว อาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับคนกลุ่มนี้ เพราะการออกมาอยู่ใต้สะพานบ้าง ข้างถนนบ้าง ตามสวนสาธารณะ ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟบ้าง หลายคนมีเหตุผลแตกต่างกันไป แต่ที่แน่ๆ พวกเขากำลังประสบปัญหา และต้องการความช่วยเหลือ


"1,200 คน" ตัวเลขคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ จากข้อมูลของ "สุชิน เอี่ยมอินทร์" นายกสมาคมคนไร้บ้าน ส่วนจำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศ แม้ไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง แต่เท่าที่มีข้อมูลในปี 2544 มีอยู่ประมาณ 15,000 คน ขณะนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 30,000 คน


สถานสงเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบของ


การสำรวจคนไร้บ้านเมื่อปี 2559 พบว่า การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของคนไร้บ้าน มีเหตุปัจจัยที่ทับซ้อนกันทั้งในเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม และครอบครัว รวมถึงปัจจัยทางสุขภาพ โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจดูจะเป็นรากฐานหลักสำคัญของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งในแง่ของความยากจน ความไม่มั่นคง ไม่แน่นอนทางรายได้ การทำงาน และการขาดสวัสดิการจากการว่างงาน


นอกจากนั้น คนไร้บ้าน ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างที่สังคมเข้าใจ จากการสำรวจประมาณร้อยละ 90 พบว่ามีงานทำ และพยายามแสวงหารายได้ผ่านการทำงาน แต่ลักษณะงานไม่มีความมั่นคง ทั้งในแง่ของการจ้างงาน (ลูกจ้างรายวัน, ไม่มีสัญญาจ้าง, ไม่มีสวัสดิการ, หยุดงานไม่ได้เงิน) และรายได้ที่ไม่มีความแน่นอน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการกลับมาตั้งหลักชีวิตใหม่อีกครั้ง


สถานสงเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบของ


เมื่อมาดูข้อมูลอีกฝั่ง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านอย่างเป็นระบบขึ้นครั้งแรกในปี 2558 นำร่อง 3 จังหวัด กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านเป็นจำนวนมาก พบว่ามีจำนวนกว่า 1,500 คน ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 28 ไม่มีบัตรประชาชน ร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ และร้อยละ 70 มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต


นำมาสู่การสำรวจคนไร้บ้านครั้งใหญ่ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งต่างจากการเก็บข้อมูลสภานการณ์ประเภทอื่นๆ โดยจะใช้ผู้เก็บข้อมูลจำนวนมากกว่า 500 คน ทำการสำรวจพร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้เก็บข้อมูลจะต้องผ่านการอบรมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เทคนิคการเข้าถึงกลุ่มคนไร้บ้านอย่างเป็นมิตร เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และระดับนโยบายเพื่อการเข้าถึงสุขภาวะของคนไร้บ้านในอนาคตต่อไป


สถานสงเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบของ


อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. เผยถึงการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า มี 3 กลุ่มหลักๆ เข้ามาช่วยกัน คือ 1. เครือข่ายสลัม 4 ภาค 2. เครือข่ายคนไร้บ้าน และ 3. กลุ่มสถาบันการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร


สถานสงเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบของ


"มีคนถามว่าทำไมเราไม่ใช้กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนตัวต้องอธิบายว่า การสำรวจคนไร้บ้านมันมีวิธีการที่ต่างจากการสำรวจข้อมูลในชุมชน เนื่องจากคนไร้บ้านเป็นประชากรที่เข้าถึงยาก ดังนั้นเครือข่ายที่ลงพื้นที่สำรวจะคุ้นเคย มีความรู้ความเข้าใจกลุ่มคนไร้บ้านอยู่แล้ว หรือบางพื้นที่จะมีในส่วนของเทศบาลเข้ามาช่วยด้วย"


เมื่อลงลึกถึงวิธีการสำรวจ ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. บอกว่า ใช้วิธีการแจงนับ โดยเน้นลักษณะที่เห็นจากภายนอก


"เป้าหมายในการสำรวจคืออยากรู้จำนวน และลักษณะทางประชากรที่เห็นจากภายนอก ส่วนคำถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาอยู่ตรงไหน ก่อนที่จะมีวันนี้ เราใช้ข้อมูลจากที่สสส.เคยสำรวจในปี 2558 ประกอบกับการสำรวจย่อยอีกครั้ง ก่อนจะแบ่งทีม แบ่งเส้นทางให้มันมีความเหมาะสม โดยการลงพื้นที่สำรวจตามจุดต่างๆ จะมีตัวแบบที่ทาง สสส.กับจุฬา ช่วยคิดกันขึ้นมา เป็นแบบฟอร์มที่ทำออกมาให้ง่ายที่สุด เช่น คนคนนั้นนอนอยู่ตรงไหน หน้าทางขึ้นรถไฟฟ้าหัวลำโพง ลักษรณะที่เห็นจากภายนอก เช่น เพศ ช่างอายุ ความพิการ สุขภาพทางจิต" อนรรฆเผย และกล่าวต่อว่า


สถานสงเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบของ


"เป้าหมายการแจงนับ ทำให้เห็นการชุกตัวของพี่น้องคนไร้บ้านในแต่ละพื้นที่ สิ่งที่อยากเห็นคือวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งจะสัมพันธ์กับเรื่องสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมต่างๆ อย่างบางจังหวัดที่มีการสำรวจไปแล้ว เราพบว่า จากที่ไม่คิดว่าจะมี กลับพบว่ามีอยู่พอสมควร ทำให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม มันเริ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นเครือข่ายการป้องกันทางสังคมมันเริ่มมีปัญหา ส่วนการแก้ไขคงมีการผลักดันต่อในเชิงนโยบาย ปัจจุบันทางเครือข่าย และทางสสส.ให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดอัตราการตายที่มีจำนวนค่อนข้างสูง" ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. ทิ้งท้าย


หากมองอย่างเข้าใจ "ความเป็นมนุษย์" การแก้ปัญหาคนไร้บ้านคงไม่ใช่มุ่งจับไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์ แม้จะดูเหมือนมอบความหวังดี ช่วยให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งการขับถ่าย ชำระล้างร่างกาย อาหาร และการหลับนอน แต่คงไม่ใช่กับทุกคน บางคนยอมทนลำบาก หรือยอมนอนท่ามกลางหนู แมลงสาบ เพื่อแลกกับชีวิตที่อิสระกว่า ดังนั้นภาครัฐควรจะสร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งรายได้ และเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐแบบง่ายๆ ภายใต้การใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ อย่างน้อยๆ ก็เพื่อความเท่าเทียมในฐานะ "คนไทย" เหมือนๆ กัน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ