สถานการณ์บุหรี่ไทย เด็กลด ผู้หญิงเพิ่ม
อิทธิพลจากสื่อ-รูปลักษณ์สวยงาม
ปัญหาสุขภาพที่ได้รับจากควันบุหรี่อยู่คู่สังคมมานาน ภัยดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อตัวเองเท่านั้น ยังลุกลามไปสู่การทำ ร้ายคนอื่นๆ ด้วย ปัจจุบันหลายหน่วยงาน รวมทั้งกระแสจากสังคม เริ่มกดดันผู้สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ รวมทั้ง ภาครัฐยังออกมาตรการต่างๆ มากมาย เช่น คำเตือนบนซองบุหรี่ หรือการจำกัดเรื่องราคา โดยกำหนดกำแพงภาษีให้สูงขึ้น แต่บุหรี่ก็ยังไม่หมดไป
ลองมาฟัง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เล่าถึงสถานการณ์ของการสูบบุหรี่วันนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มูลนิธิก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนค่านิยมเรื่องการสูบบุหรี่
หน้าที่หลัก คือ รณรงค์ให้ข่าวสารแก่ประชาชนรู้ถึงอำนาจการเสพติดของยาสูบ พิษภัยของการสูบบุหรี่ พร้อมกันนั้น ยังสร้างความตระหนักดังกล่าว ลงสู่ชุมชนผ่านองค์กรต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ในสถานประกอบการ วัดรวมทั้ง ยังผลักดันและเสนอแนะนโยบายสาธารณะ ในการควบคุมบุหรี่ตั้งแต่ต้นให้มีการห้ามโฆษณาบุหรี่ ให้มีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาการส่งเสริมการขาย กฎหมายห้ามสูบในที่สาธารณะ คุ้มครองสุขภาพของคนไม่สูบบุหรี่ ให้มีการขึ้นภาษียาสูบเพื่อให้คนเสพน้อยลง และเด็กไม่ติดบุหรี่ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาสนับสนุนการทำงานทั้งของมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ให้เข้าไปทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ของประชาชนและส่งเสริมสุขภาพ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สถิติของเด็กต่อการติดบุหรี่ หากเทียบจาก 20 ปีที่ผ่านมา นับว่าดีขึ้น เพราะสมัยก่อนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สูบบุหรี่ประมาณ 5 แสนกว่าคน ตอนนี้เหลือประมาณ 2 แสนกว่าคน
แต่มีแนวโน้มสำคัญว่า วัยรุ่นผู้หญิงสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะมีบริษัทบุหรี่จากต่างประเทศผลิตชนิดใหม่ๆ มีซองสวยงาม สีสันสดใสสำหรับผู้หญิง แล้วยังมีบุหรี่มวนเล็กๆ เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวโดยเฉพาะ ประกอบกับสื่อที่นำเสนอในภาพยนตร์ ผู้หญิงฝรั่งสูบบุหรี่กันมาก ทำให้เกิดการเลียนแบบกัน ส่งผลให้ตัวเลขผู้หญิงสูบเพิ่มขึ้นในหลายปีหลัง
นายแพทย์ประกิต กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มูลนิธิทำงานตลอดมาในการให้ความรู้ และปกป้องไม่ให้ไปเสพติดบุหรี่ เพราะไม่ใช่แค่เพียงเสพติดเท่านั้น การติดบุหรี่ยังเป็นตัวนำไปเสพติดยาชนิดอื่นๆ ที่มีความรุนแรงมากกว่า เช่น เฮโรอีน กัญชา ยาไอซ์
“ปัจจุบันนี้ มูลนิธิได้ร่วมกับโรงเรียนทั่วประเทศ ทำโครงการ “โรงเรียนปลอดบุหรี่” เพราะหากเราป้องกันไม่ให้นักเรียนติดบุหรี่แล้ว จะลดปริมาณคนสูบบุหรี่จำนวนมาก สาเหตุที่เด็กติดบุหรี่ ส่วนใหญ่จะเลียนแบบผู้ใหญ่ในบ้าน เลียนแบบคนอื่นๆ ในสังคม เช่น ดารา คนที่มีชื่อเสียง พร้อมทั้งความอยากรู้อยากเห็น อยากลอง และผมขอย้ำว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ติดง่ายมาก ลองไม่กี่ครั้งก็ติดแล้ว ดังนั้นต้องรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ไม่สูบบุหรี่ให้เด็กดู เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น และบอกเยาวชนว่าอย่าไปลอง” นายแพทย์ประกิต กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวต่อว่า มาตรการที่เราดำเนินการที่ผ่านมา อย่างเช่น ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ มีผลมากทำให้คนคิดอยากจะเลิกบุหรี่ โดยสถิติ 7 ใน 10 ของคนไทยทำให้เขาอยากเลิก แต่ที่เลิกไม่ได้ เพราะอำนาจการเสพติดของบุหรี่ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เด็กอยากเริ่มบุหรี่น้อยลง เพราะซองไม่สวยงามเหมือนแต่ก่อน
ส่วนการห้ามสูบในที่สาธารณะก็ประสบผลสำเร็จเช่นกัน วัตถุประสงค์คือ คุ้มครองสุขภาพของคนที่ไม่สูบบุหรี่ ผลที่ตามมาทางอ้อมก็คือ ทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง เพราะพื้นที่ถูกจำกัดนำไปสู่การเลิกบุหรี่มากขึ้น ประเทศอื่นๆ ที่ใช้มาตรการนี้อย่างเคร่งครัดก็ทำให้เด็กสูบบุหรี่น้อยลงด้วย
คุณหมอประกิตยังบอกด้วยว่า ตอนนี้สิ่งที่มูลนิธิกำลังมุ่งเน้นคือ การเปิดโปงกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจยาสูบ เราจะเฝ้าระวังพวกเขาโดยใช้กฎหมายจัดการ เมื่อเราได้รับทราบจะแจ้งให้หน่วยงานที่ดูแล เช่น กระทรวงสาธารณสุขและกรมสรรพสามิตจัดการต่อไป แต่บริษัทบุหรี่ก็จะหาช่องทางหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการส่งเสริมการขาย
“รูปแบบการทำผิดกฎหมาย เช่น การผลิตบุหรี่ชูรสวางขายตามที่ต่างๆ ล่าสุดนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ซื้อบุหรี่ดังกล่าวที่ผลิตสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ และไม่มีคำเตือน มีรสผลไม้ ขนม และยาสูบชนิดใหม่ๆ เข้ามาเจาะตลาด” คุณหมอประกิตกล่าว
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เราต้องกระจายข่าวให้สังคมรู้ว่า กำลังมีสิ่งเหล่านี้ ล่าวัยรุ่นไทยอยู่ เราจะต้องแจ้งให้ตำรวจเข้าไปจัดการจับกุม เพราะนอกจากจะทำอันตรายแก่ร่างกาย รัฐบาลยังไม่สามารถเก็บภาษีได้ด้วย เพราะไม่ได้นำเข้าอย่างถูกต้อง ทำให้หาซื้อง่าย มีราคาถูก เด็กไปทดลองสูบโดยคิดว่าไม่มีโทษมากนัก สูบง่าย เสพง่ายก็เกิดการติดขึ้น
“ส่วนใหญ่บุหรี่ดังกล่าวขายแถวสยามสแควร์ ตลาดนัดสวนจตุจักร สะพานพุทธ โดยจะขายในแผงลอย โดยเฉพาะ ในตลาดนัดสวนจตุจักรมีขาย 9-10 ราย นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดก็มีอีกหลายจังหวัด ซึ่งลักลอบนำเข้ามา”
นพ.ประกิต กล่าวว่า มาตรการเก็บภาษีบุหรี่ซองก็ถือว่าเก็บได้อย่างเหมาะสม แต่โดยหลักวิชา การต้องขึ้นภาษีทุก 2 ปี เพราะรายได้ประชาชนดีขึ้น หากไม่ขึ้นภาษีคนก็จะสูบมากขึ้น แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่คือ ยาเส้น เพราะไม่มีการเก็บภาษี เลยเป็นอุปสรรคทำให้คนไทยสูบบุหรี่มาก เนื่องจากราคาถูก โดยสถิติของคนไทยครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่ซอง อีกครึ่งหนึ่งสูบยาเส้น
สำหรับโรคภัยของบุหรี่เกิดขึ้นกับเด็กได้ทันที ส่วนใหญ่จะเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเป็นหลัก คือ โรคหืด โรคภูมิแพ้ อาการจะออกฤทธิ์ทันที หากเป็นโรคระยะยาวก็จะเกิดโรคภัยมากมาย และนำไปสู่การติดยาเสพติดชนิดอื่นๆ
ในส่วนของสถิติคนตายจากบุหรี่ คนไทย 4.2 หมื่นคนต่อปี แต่ทั่วโลก ปีละ 5.4 ล้านคน หรือต่อวัน 1.4 หมื่นคนทั่วโลกต้องตายจากพิษบุหรี่ และตัวเลขจะเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า
“มีคนไทยเลิกบุหรี่ไปแล้ว 6.2 ล้านคน ร้อยละ 90 เลิกได้ด้วยตัวเอง พูดง่ายๆ คือหากใครอยากเลิกต้องมีความตั้งใจก็สามารถทำได้ ไม่ต้องให้ใครช่วยจึงอยากให้ทำก่อน คือเลิกไปเลย หากไม่สำเร็จ ตามโรงพยาบาล หรือร้านขายยา คลินิกทำฟันทุกแห่งมีการแนะนำให้เลิกบุหรี่ รวมทั้ง สสส. และกระทรวงสาธารณสุขมีสายโทรศัพท์ คือ 1600 ให้คำแนะนำในการเลิกบุหรี่ได้”
สุดท้าย นพ.ประกิต อยากฝากให้คนยังที่ยังไม่คิดเลิกบุหรี่นั้นคิดว่า 6 ใน 10 คน อยากเลิกบุหรี่ แต่คนที่เลิกจริงๆ มีน้อย คนที่ตั้งใจจริงควรจะเลิกไปเลย ยิ่งเร็วก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตัวเอง อย่าได้เพียงคิด ให้ลงมือเลิกเลย จะได้ศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่งได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 08-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน