‘สตรี กับ สิทธิและความเป็นธรรม’

/data/content/23396/cms/acglmvyz2348.jpg

          ผ่านไปแล้วสำหรับ ‘วันสตรีสากล’ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมถึงเห็นคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรม และการให้เกียรติสตรี

          “สำหรับประเทศไทย ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนด้านความเสมอภาคของผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ (NGO) อย่างเช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิผู้หญิง บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี

          องค์กรเหล่านี้เน้นแก้ไขปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญทั้งด้านความรุนแรง การใช้แรงงานหญิง การค้ามนุษย์รวมทั้งส่งเสริมผู้หญิงให้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และการเมืองมากขึ้น หลังจากนั้นภาครัฐก็ให้ความร่วมมือ จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ โดยเน้นการทำงานเชิงนโยบายเป็นหลัก” วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ พูดถึงการทำงานเพื่อผู้หญิงในช่วงที่ผ่านมา

          วราภรณ์ บอกเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปัญหาที่เกิดกับผู้หญิงไทย จะเห็นได้ชัดคือ ปัญหาด้านความรุนแรง ทางครอบครัว และทางเพศ อย่างเช่น การข่มขื่น การล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การมีส่วนร่วมทางสังคม สถานภาพของผู้หญิงนับว่าดีขึ้นมากจากอดีต

/data/content/23396/cms/bijrsvwz1389.jpg

“ทัศนคติ รากเหง้า และความเชื่อ“

          วราภรณ์ พูดถึงความเชื่อของสังคมที่มีต่อผู้หญิงว่า ถ้ามองลึกลงไปที่รากเหง้าของปัญหาจริงๆ แล้วคือ ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติของสังคมที่ให้ความสำคัญของคุณค่า ผู้หญิงและผู้ชาย แตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน เริ่มจากครอบครัว ไปยังการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อที่เกี่ยวกับบทบาททางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ 

         “โดยส่วนลึก คนในสังคมยังมีความรู้สึกว่า การเกิดมาเป็นผู้ชายมีคุณค่า สิทธิเสรีภาพ รวมถึงโอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากร แหล่งอำนาจ ในทุกด้านของสังคมมากกว่าผู้หญิง”

          วราภรณ์ บอกเพิ่มเติมว่า ศักยภาพของผู้หญิงไทยมีความเด่นชัดมากขึ้น ผู้หญิงไทยเก่ง และมีสถานภาพโดยรวมดีขึ้นมากจากอดีต แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข อย่างเช่น ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ปัจจุบันยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น

ผู้หญิง ต้งรู้เรื่อง เพศ

          ผู้จัดการแผนงานฯ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้สถานภาพด้านอื่นดีขึ้น แต่โจทย์ใหม่ๆ ยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องเพศเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ สำหรับผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป มักจะยึดถือวัฒนธรรมประเพณีของไทย ที่ไม่ให้ผู้หญิง พูดคุย หรือเปิดเผยเรื่องเพศ เมื่อเกิดปัญหาด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ก็ไม่กล้าปรึกษาแพทย์ ไม่รับการรักษา จึงพบว่า จำนวนผู้หญิงไทยป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกค่อนข้างสูง แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงความรู้เหล่านี้

          ส่วนวัยรุ่นหญิงยุคใหม่ ปัจจุบันพบปัญหาเรื่อง ‘ท้องไม่พร้อม’ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ใหญ่มองว่า เขามีเสรีภาพทางเพศสัมพันธ์รวดเร็วและมากขึ้น แต่ด้านการให้ความรู้ที่เหมาะสมเรื่องเพศ รวมทั้งการป้องกันตัวเอง ด้านการมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศนั้น สังคมยังไม่ค่อยได้สอนให้วัยรุ่นนำไปใช้ได้จริง แต่กลับให้เขาค้นหาข้อมูลเรื่องเพศกันเอง

          ผลก็คือ แม้ว่าจะมีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องเพศมากขึ้น แต่ข้อมูลเชิงปกป้องและดูแลตัวเอง กลับไม่ใช่ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากพอ ปัญหาการตั้งครรภ์จึงมีมากขึ้นในเมืองไทย

/data/content/23396/cms/deltuwxyz345.jpg

คุณค่า และความเป็นธรรม ของหญิงไทย

          ‘ในฐานะที่ทำงานด้านผู้หญิงมาอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งสิ่งที่ตนให้ความสำคัญคือ ความเป็นธรรมทางเพศ วราภรณ์ บอกอย่างมุ่งมั่น

          วราภรณ์ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า ถ้าคนรอบข้างของเราไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากระบบความคิด ความเชื่อ หรือทัศนคติที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  รวมทั้งข้อกำหนดทางสังคมที่ต้องการให้ผู้หญิง ผู้ชายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายแล้ว ผลกระทบก็เกิดขึ้นกับคนทุกเพศ

          ดังนั้น หากมองด้านการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศ ทุกเพศทางสังคมต้องให้ความสำคัญอย่างมาก และควรร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง

 

 

          เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code