สกัดยุงลายต้องเริ่มที่ต้นทาง

อธิบดีกรมควบคุมโรคนำทีมลงพื้นที่บ้านหัวเสือ จ.เชียงใหม่ ดูความสำเร็จงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกโดยชุมชนมีส่วนร่วม เผยวิธีสกัดยุงลายให้ได้ผลต้องเริ่มที่ต้นทาง แนะ!! นอกจาก 5 ป. แล้วให้เพิ่มอีก 1 ข. คือการขัดไข่ยุงลายที่ยังติดค้างอยู่กับภาชนะต่างๆ เพื่อไม่ให้ยุงมีโอกาสฟักตัว

 

 
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ขณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกที่บ้านหัวเสือ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานการพบผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2556 มากถึง 5,739 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 5.4 เท่า และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
 
การพบผู้ป่วยไข้เลือดออกในขณะที่ยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว เป็นสัญญาณเตือนว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาจสูงถึงกว่า 100,000 ราย เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุดและป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด 
 
โดย น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศดำเนินการควบคุมป้องกันโรค ตั้งแต่ต้นปีและทำต่อเนื่องไปตลอดปี โดยไม่ต้องรอให้ถึงหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงระบาด เนื่องจากโรคนี้พบได้ตลอดปีทั้งฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน เน้นการใช้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และได้สั่งให้จับตาเป็นพิเศษในพื้นที่ที่ประชาชนมีการเก็บกักน้ำสะอาดในภาชนะต่างๆ ไว้เพื่อใช้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีฝาปิด พร้อมทั้งได้สั่งการให้เปิดวอร์รูมไข้เลือดออก ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานป้องกันควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกของพื้นที่ทุกสัปดาห์
 
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ข้อมูลล่าสุดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 พบผู้ป่วยจำนวน 248 ราย พบหมู่บ้านที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 197 แห่ง จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุดคือ เชียงราย 98 คน รองลงมาคือ เชียงใหม่ 85 คน ลำพูน 20 คน พะเยา 17 คน และลำปาง 11 คน
ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ที่บ้านหัวเสือซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ เมื่อประมาณปี 2550-2552 เคยมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและพบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกทุกปี เนื่องจากชาวบ้านจะเก็บน้ำในภาชนะไว้ใช้ในบ้าน จึงมีบ่อน้ำ อ่างน้ำไว้ใช้ในสวน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนลำไย ทำนา และรับจ้างทั่วไป จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านของตัวเอง ทำให้เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก 
 
แต่หลังจากปี 2553 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน บ้านหัวเสือไม่พบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกแม้แต่รายเดียว ถือเป็นพื้นที่ที่ชุมชนมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมไข้เลือดออกได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญบ้านหัวเสือยังได้รับรางวัลหมู่บ้านชนะเลิศโครงการปลอดลูกน้ำยุงลายของ จ.เชียงใหม่ด้วย
 
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของบ้านหัวเสือเกิดขึ้นได้เพราะคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง ในการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเพื่อการควบคุมป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกโดยผ่านมติที่ประชุมหมู่บ้าน และยังได้นำกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่มาดำเนินการร่วมด้วย โดย ดวงจันทร์ สุริยะ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหัวเสือ จะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ กฎระเบียบของหมู่บ้านที่ผ่านประชามติทุกวันศุกร์เพื่อการบังคับใช้
 
ส่วนชาวบ้านมีหน้าที่ดูแลความสะอาดบ้านเรือนของตนเอง หากมีบ่อน้ำต้องปล่อยปลาหางนกยูงเปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ใส่ทรายอะเบท คว่ำกะลา ทำความสะอาดถนนบริเวณในบ้านและภายนอก และจะนำ “มาตรการ ธงขาว-ธงแดง” มาใช้ หากบ้านไหนได้ธงแดงแสดงว่าทำผิดกติกา บ้านไหนทำถูกกติกาก็จะได้ ธงขาว ส่วน อสม.ประจำหมูบ้านและ อสม.น้อยจะออกรณรงค์ควบคุมลูกน้ำยุงลายและเชิญชวนชาวบ้านทำกิจกรรมเฝ้าระวัง ป้องกันไข้เลือดออกในหมู่บ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์และทุกเดือน มีการจัดประกวด “ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาปรับปรุงสิ่งแวดล้อม” ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยจะมีการมอบรางวัลเป็นไข่ไก่สดจำนวน 1 กระเช้า ให้บ้านที่ชนะการประกวดทุกเดือนๆ ละ 4-5 หลัง ส่วนเจ้าอาวาสวัดมีหน้าที่แนะนำชาวบ้านให้ช่วยกันดูแลความสะอาดบริเวณวัดในวันพระหรือวันสำคัญ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ช่วยจัดหางบประมาณมาสนับสนุน
 
นอกจากนี้ บ้านหัวเสือยังได้มีการจัดทำแผนชุมชนคือ แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก (srm) โดยภาคีสุขภาพทุกส่วนในชุมชน เช่น ผู้นำชุมชน อสม. ผู้สูงอายุ เยาวชน แม่บ้าน และกลุ่มอื่นๆ ในชุมชนเข้าร่วมกัน ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเมืองกลางให้คำแนะนำในการทำแผนฯ โดยกรมควบคุมโรคและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ และเครื่องมือในการป้องกันควบคุมลูกน้ำยุงลายให้กับชาวชุมชน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์และรายงานโรค รวมถึงทำการสอบสวนโรคกรณีเกิดการระบาด เพื่อการควบคุมป้องกันโรคอย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ
 
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวแนะนำในตอนท้ายถึงมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ว่า นอกจากใช้มาตรการ 5 ป. แล้ว ขอให้เพิ่มอีก 1 ข. เป็น “มาตรการ 5 ป. 1 ข.” คือ “ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัด” ได้แก่ 1.ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 2.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3.ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร 4.ปรับ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5.ปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และลงมือทำทันที และอีก 1 ข. คือ ขัดล้างไข่ยุงลายที่อาจติดอยู่กับภาชนะต่างๆ ที่ใช้ใส่น้ำ เช่น อ่างปลา แจกันดอกไม้ กระถางต้นไม้ อ่างน้ำ เพื่อกำจัดไข่ยุงลายเพราะไข่ของยุงที่ติดอยู่กับขอบภาชนะต่างๆ นั้นจะเป็นเม็ดเล็กๆ สีดำ ถ้าไม่สังเกตอาจมองไม่เห็น บางภาชนะอาจมีไข่ยุงติดอยู่หลายพันจนถึงเป็นหมื่นฟอง ไข่เหล่านี้อยู่ได้นานถึง 2 ปี สามารถอยู่รอดและฟักตัวเป็นยุงลายได้ถึง 80% เมื่อไข่ถูกน้ำท่วมถึงจะฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำอย่างรวดเร็วภายในเวลา 20-60 นาที
 
ดังนั้นจึงต้องไม่ประมาทการขัดล้างภาชนะต่างๆ ที่อาจมีไข่ของยุงลายติดค้างอยู่ จึงเป็นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตั้งแต่ต้นทางที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้ยุงลายมีโอกาสฟักตัว
 
 
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
Shares:
QR Code :
QR Code