ศูนย์ ‘ปิ๊กมาดี’ จัดการปัญหาขยะ
ที่มา : แฟนเพจ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
ภาพประกอบจากแฟนเพจ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
อาจเป็นภาพแปลกตาของคนแปลกหน้า แต่กลับชินตาของคนในชุมชน เพราะทุกๆ ครั้งที่เป็นวันแจกเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ คนสูงวัยที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเบี้ยประจำเดือน จะพากันหิ้วถุงขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้ว ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง มาจากบ้าน ติดมือไปด้วย
และนี่คือจุดเริ่มต้นของของกิจกรรมดีๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆ อย่างบ้านทุ่งหก ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
กิจกรรมดีๆ แบบนี้ เริ่มจากความเชื่อและความมุ่งมั่นที่ว่า "แค่เฮาเอาหัวใจ๋ของเฮาใส่ลงไป ทุกอย่างก็จะ "ปิ๊กมาดี" คำว่า "ปิ๊กมาดี" ในภาษาเหนือนั้น หมายถึง กลับมาดีดังเดิม หรือ แต่เดิมนั้นเคยดี เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งดีๆ นั้นค่อยๆ เลือนหาย แต่หากเราใส่ใจ ร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ สิ่งดีๆ ที่เคยหายไปนั้น ก็จะกลับมาเหมือนเดิม
จากแนวคิดนี้ จึงเป็นที่มาของ "ศูนย์ปิ๊กมาดี" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของคนหนุ่มสาวในชุมชน นำโดย กฤษ เทพภาพ และ เจษฎา ปาระมี ที่ต้องการให้หมู่บ้านของตัวเองกลับมาน่าอยู่ ร่มเย็น สงบสุข จึงชวนกันทำกิจกรรมหลากหลาย
เริ่มจากการจัดการกับขยะที่เกะกะจนะล้นหมู่บ้านก่อนเป็นอันดับแรก โดยชักชวนผู้สูงอายุมาร่วมกิจกรรมทำความดี คัดแยกขยะมาจากบ้าน นำมามอบให้กับศูนย์ฯ แล้วได้รับการบันทึกลงในสมุดบันทึกความดี ขณะเดียวกันศูนย์ฯ มีหน้าที่คัดแยกขยะจำหน่าย สร้างกองทุนเล็กๆ ขึ้น แล้วนำเงินที่ได้ย้อนกลับไปเป็นสวัสดิการของผู้สูงอายุ เจ็บไข้ไปหาหมอก็ใช้เงินที่ได้จากขยะที่ช่วยกันขนมา
กิจกรรมเล็กๆ ง่ายๆ นี้ ได้งอกเงยสู่กิจกรรมอื่นๆ ของผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งการส่งเสริมอาชีพ เย็บผ้าห่ม จักสาน ตัดตุง สู่การศึกษาและร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี
ทุกกิจกรรมล้วนมีต้นธารมาจาก "ขยะ" ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยกันหิ้วมาจากบ้านนั่นเอง