‘ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค’ ปลุกต้นแบบสุขภาวะทั่วถิ่นแดนไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักกับการจะ ส่งเสริมคนไทยให้เข้าใจและมีสุขภาวะที่ดี เพื่อเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศชาติ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจความหมายของการมีสุขภาวะและ นำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ผ่านการมี "ต้นแบบที่ดี" ที่สามารถสร้างการเรียนรู้และเข้าถึงใน ทุกวิถีชีวิตของคนไทยได้
ความตระหนักดังกล่าวทำให้หนึ่งในพันธกิจที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามริเริ่มบุกเบิกต่อเนื่อง คือการปลุกปั้นพื้นที่ ซึ่งสามารถเป็น "แหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านสุขภาวะ" และได้กลายเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้สุขภาวะแห่งแรก ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ในซอยงามดูพลี ซึ่งปัจจุบันนี้มีทั้งแฟนขาประจำและไม่ประจำแวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสาย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้ว่า "อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ" นั้น ใช้พื้นที่เพียง 20% เป็นสำนักงาน แต่พื้นที่ที่เหลือ สสส. ตั้งใจที่จะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และจัดกิจกรรมสำหรับผู้สนใจ
"แต่สิ่งที่เรายังไม่พอใจคือ เราไม่ได้ต้องการแค่เฉพาะกลุ่มคนที่อยู่รอบข้าง หรือเฉพาะคนในกรุงเทพมหานคร เพราะเราอยากไปให้ไกลกว่านี้ และครอบคลุมมากกว่านี้ มีการขยายไปในระดับภูมิภาคมากขึ้น"
ด้วยเป้าหมายที่ว่านี้ ในปี 2558 ที่ผ่านมา สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จำนวน 4 แห่งได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา และอุทยานการเรียนรู้ยะลา ออกแบบและพัฒนาให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ ในรูปแบบ "ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค" ขึ้นครั้งแรก โดยความหวังที่ต้องการมุ่งให้ประชาชนในภูมิภาคได้เข้าถึงและเกิดความตระหนักในการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเองและบริบทของพื้นที่ได้จริง
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ให้เหตุผลถึงแนวคิดที่ สสส. ต้อง "เดิน" ออกไปทำงานในเชิงรุกมากขึ้นว่า
"พอ สสส.ตั้งมา 15 ปี เราก็มองว่าอยากขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมมากกว่านี้ แต่อีกสิ่งที่เราพบว่าพันธมิตรเราส่วนใหญ่เขาไม่ได้ต้องการให้ สสส. สนับสนุนเรื่องเงิน แต่เขาอยากได้สิ่งที่ สสส. มีคือทุนความรู้ที่เขาจะนำไปขยายผลต่อได้" เบญจมาภรณ์เอ่ย
"ถามว่าเราเลือกยังไง หนึ่ง พื้นที่นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม มีศักยภาพทางกายภาพ สอง มีกลุ่มลูกค้า นี่เป็นเหตุผลไปตั้ง ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์หรืออุทยานการเรียนรู้ ที่เขามีทุน มีอะไรพร้อมอยู่แล้ว แต่ต้องการเครื่องมือที่ไปส่งต่อ แต่ทั้งพันธมิตรและ สสส. มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันคือ เรามองว่า กลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่สำคัญ ผู้บริหารต้องซื้อไอเดียเรา"
ซึ่งหลังนำร่องเปิดตัว 4 "ศูนย์เรียนรู้ สุขภาวะภูมิภาค" ในเฟสแรกมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2561 พบระยะแรกขยายผล องค์ความรู้สุขภาวะให้กับประชาชน ทั่วประเทศได้มากถึง 1,438,990 คน โดยมีประชาชนที่ได้รับบริการ กว่า 80% มีความรู้ด้านสุขภาวะมากขึ้นและมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าว ได้นำไปสู่การจัดสรร "พื้นที่กลาง" ในการเรียนรู้ด้านสุขภาวะขึ้น ทั้งยังนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้าถึงประชาชนทั่วไปได้ง่าย พร้อมทั้งมีการ "เชื่อมโยงองค์ความรู้" กับภาคีเครือข่าย สสส. และหน่วยงานต่าง ๆ ต่อยอด และขยายผลองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ และที่สำคัญเกิดการพัฒนากิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ผ่านเจ้าหน้าที่ของพันธมิตรเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดและออกแบบกิจกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความตระหนักปรับทัศนคติและเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี
"การทำงานที่ผ่านมา สะท้อนสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่เรามีชุดความรู้ มีกระบวนการเรียนรู้ มีกิจกรรมที่หลากหลายตอบโจทย์แต่ละชุมชน"
"นิทรรศการยืมคืน" เป็นหนึ่งในนวัตกรรมของการพัฒนาสื่อที่ สสส. คิดค้นขึ้นในรูปแบบของกระเป๋าเดินทาง ใบย่อม แต่ข้างในบรรจุด้วยชุด KIT สื่อการเรียนรู้ในแต่ละเรื่อง ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สรุปย่อมาจากนิทรรศการใหญ่ที่ สสส.จัดในอาคารเรียนรู้สุขภาวะ
"มันเกิดจากการที่เรามีทุนจำกัด ส่วนหนึ่งเราคงไม่สามารถที่จะแจกสื่อได้ครบทุกที่ อีกทั้งด้วยพันธกิจเราคือกระตุ้น และจุดประกายให้คนมากกว่า เราจึงเริ่มจากการทำนิทรรศการชุดเล็กที่สามารถพกพาไปที่ไหนได้ เพื่อความสะดวกคล่องตัว เพื่อจัดส่งให้กับพันธมิตรของเราคือ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค เพื่อให้เขานำไปต่อยอด หรือเป็นจุดกลางให้ยืมกับเครือข่ายในชุมชนนำไปใช้ได้"
เมื่อผลลัพธ์การดำเนินงานมีความสำเร็จที่น่าพึงพอใจ สสส. จึงเดินหน้าต่อ โดย ยังร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา และอุทยานการเรียนรู้ยะลา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนา และขยายผลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ระยะที่ 2 เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตระหนักในการสร้างเสริมสุขภาพ อันส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการดูแลสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในกลุ่มเยาวชนและประชาชนในเขตพื้นที่ อย่างกว้างขวาง โดยจะขยายการดำเนินงานไปถึงปี 2562 – 2565
ในเรื่องนี้ ผู้จัดการ สสส. เอ่ยเสริมว่า ข้อตกลงความร่วมมือมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมทักษะให้บุคลากรและเครือข่ายในพื้นที่เป็น "นักสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาวะ" เพื่อต่อยอด ขยายผลองค์ความรู้สุขภาวะและกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบท และความต้องการของพื้นที่
"สสส. มีความยินดีที่จะสนับสนุนข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ด้านสุขภาวะ เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมไปสู่การมีสุขภาวะอย่างยั่งยืนได้ด้วยตนเอง ขยายสู่คนรอบข้างและสังคมวงกว้างอย่างแท้จริง ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดสู่การที่ขยายพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิภาค เพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 8 แห่ง ทั่วประเทศ" ดร.สุปรีดา กล่าว
เป็นที่รู้กันดีว่า "ยะลา" เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ เกือบสิบสองปีที่แล้วความหวาดระแวงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นการมี "กิจกรรม" ถือเป็นกุศโลบายทางหนึ่งที่จะกลายเป็นอีกโอกาสที่จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันของคนในพื้นที่ผ่านเรื่อง "สุขภาพ"
วธนัน ถ้วนถวิล ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา หนึ่งในศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาครุ่นบุกเบิก เล่าว่า ในเวลานั้น คณะทำงานมองว่าถ้าหากนำเอาความรู้ เอาการศึกษาเข้ามาให้กับเด็กเยาวชนมัน น่าจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น
"เราเชื่อว่าทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว พ่อแม่เด็กพอเห็นเด็กมาอยู่ที่นี่เขารู้สึกไว้วางใจ ว่าปลอดภัยเรามองว่าถ้าเด็กมีความรู้ ถ้าพ่อแม่สนับสนุนเมืองเราก็ไปได้ เราใช้วิธีง่าย ๆ คือเราขโมยเยาวชนมาด้วยกิจกรรมที่เราพัฒนาขึ้น เราจึงเริ่มต้นด้วยห้องสมุดสมานฉันท์ เราดึงสิ่งเหล่านี้เป็น พื้นกลางเพื่อให้เด็กเยาวชนมาอยู่ร่วมกัน เห็นอกเห็นใจกัน
เมื่อเขามาอยู่กับเรา เราก็จัดกิจกรรมให้เขาติดใจ ทั้งค่ายพัฒนา กิจกรรมในพื้นที่ วันแรกเขาอาจไม่ได้มีใจชอบหนังสือ แต่เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราจัด เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เขาเริ่มหยิบหนังสือใกล้ตัวขึ้นมาอ่าน มันเป็นการซึมซับเกิดขึ้น ตรงนี้ สสส.ช่วยเติมองค์ความรู้ให้เราด้วย"
เธอเล่าต่อว่า วันแรกที่ สสส.มาคุย จึงเลือกเรื่องลดพุงลดโรค เพราะเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เพราะรอบนอกจากศูนย์กิจกรรมกับผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัย
"สำหรับเยาวชนตัวเล็ก ๆ เราก็นำมาปรับให้สื่อสามารถใช้ได้กับเด็กในพื้นที่ โดยเราเป็นจุดส่งต่อสื่อให้กับหน่วยงานอื่นด้วย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มายืมชุดบุหรี่ หรือสาธารณสุขเทศบาลนครยะลา ที่ทำเรื่องผู้สูงอายุ เราก็นำสื่อนิทรรศการ ยืมคืนของ สสส.มาให้ใช้ ที่นี่จึงเป็นเสมือน เคลียริ่งเฮาส์ให้กับ สสส.ในเรื่องการส่งต่อให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่
"การมี สสส.เข้ามาช่วยเป็นพันธมิตร เรารู้สึกดีนะ เพราะเขามีของดีมาให้เรา ทั้งสื่อที่ดี มีวิทยากร มีกิจกรรมที่ดีมาให้ โดยเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์บูรณาการกิจกรรมเหล่านี้มาเชื่อมต่อ เพื่อร้อยต่อเป็นกิจกรรมสุขภาวะในฉบับยะลา"
"ยะลาเป็นเมืองสุขภาวะ" เสียงบอกเล่า จาก สัญญา สุวรรณโพธิ์ รองนายกเทศมนตรี นครยะลา เขาเอ่ยว่า เทศบาลยะลา แต่ละวันมีคนออกกำลังกายวันละเป็นพันคนการเป็นศูนย์เรียนรู้ภูมิภาคแห่งนี้จึงได้ประโยชน์ต่อคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น
"ชุมชนก็เข้ามาศึกษาความรู้ เรื่องเหล้าบุหรี่ การพนัน ที่อื่นจะมีแค่ครั้งคราว แต่ที่นี่มีความสม่ำเสมอ คนยะลาชอบ ออกกำลังกาย เกือบทุกชุมชนในเทศบาล มีที่ออกกำลังกาย การร่วมมือครั้งนี้ เราก็ มองถือว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยน ทางเทศบาลนครยะลาเราพร้อมเป็นศูนย์รวม เครือข่ายทั้งหมดให้ สสส.ในพื้นที่"