ศูนย์สุขภาพ…งานใหม่ที่ อบต.ภูมิใจเสนอ

การขับเคลื่อนภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วังแสง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม ซึ่งนำโดยนายกฯ สมนึก ไชยสงค์ ร่วมกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านในชุมชน และการสนับสนุนทางวิชาการจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ทำให้ อบต.ในวันนี้มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของชุมชนอย่างจริงจัง ดังนั้นมาดูกันว่าเขาจะต้องทำอะไรกันบ้าง มีทิศทางอย่างไร ชุมชนจึงเดินหน้าได้อย่างมั่นคง

ความชัดเจนในการจัดระบบ-งบ-คน เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืน

สมนึกเล่าว่า “เพราะ อบต. มีทั้งบุคลากร ทรัพยากร งบฯ ถามว่าใช้เท่าไร ดูรูปแบบก็ถือว่าไม่เยอะ ผมว่าปีหนึ่งถ้าไม่เกินห้าแสนก็โอเค พอดีมันมีงบฯ จะเปรียบเทียบให้ฟัง ศูนย์เด็กปีละ 2-3 ล้านบาท ในการใช้จ่ายศูนย์กู้ชีพปีหนึ่งใช้ประมาณ 6-7 แสน มีรถบริการ มีอุปกรณ์ เครื่องมือ คน คือเราลงทุนครั้งเดียวก็ถือว่าได้หลายปี”

 “ที่ทำทุกวันเริ่มจากสองโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น ถ้าวันหนึ่งเรามีหมอสองคนมาอยู่ เราให้วันละหนึ่งร้อย คูณหารแล้วไม่มาก ถ้าเรามีนวดแผนไทยบวกอีกคนสองคนมาอยู่ด้วยกันวันหนึ่งไม่เกินสามหรือสี่คนมันจะมีงบฯ ส่วนนึงมาเสริมกัน” เขาเล่าให้ฟังถึงช่องทางที่จะหาเงินมาอุดหนุนส่งเสริมการทำงานเรื่องนี้ว่าเป็นไปได้หลายวิธี ทั้งจาก อบต. จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และกองทุนสวัสดิการของชุมชนที่นี่ซึ่งปัจจุบันเข้มแข็งขึ้นมากทีเดียว

 “จะมีงบฯ หลายส่วนส่วนหนึ่งมาจาก สปสช. อบต. ได้มาปีที่สองอันหนึ่งเป็นกองทุน ซึ่งมีองค์กรเดียวชัดเจนที่สามารถทำได้คือ กองทุนสวัสดิการออมวันละบาท เพราะทางวังแสงมีสมาชิกมากกว่า 1,500 คน มีงบฯ ส่วนหนึ่งที่จะให้สวัสดิการด้านสุขภาพ เขาก็จัดงบฯ ตรงนี้ให้มาปีละ 3-5 หมื่นบาท เอาตรงนี้มาช่วยจ้างหมอพื้นบ้านให้อยู่เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน อีกส่วนก็ของ อบต. ซึ่งสามารถทำได้ตลอด” และหากจะมีความกังวลใจอยู่บ้าง ก็คือ ข้อกฎหมายด้านการแพทย์พื้นบ้านที่ยังไม่ชัดเจน “เรื่องของกฎหมาย เป็นห่วงว่าถ้ามีนักกฎหมายบางคนว่า ทำไม่ได้ ผิดกฎหมายนะ หมอจะหมดกำลังใจ ก็เลยต้องถามทางคณาจารย์ว่าเราจะทำยังไง” สมนึกเล่าเพิ่มเติมว่า เขาพยายามเรียนรู้จากพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่น วิธีการทำงานของทั้งแพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทยที่จังหวัดสกลนครซึ่งมีภาคีหลายฝ่าย เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลคร และ อบจ.สกลนคร ร่วมกันจัดกิจกรรมพาหมอพื้นบ้านออกไปพบผู้ป่วยในชุมชน “ก็ไปดูรูปแบบ ไปดูเขาว่าติดขัดกฎหมายอะไรบ้าง กำลังเดินตามตรงนั้นอยู่ ของ อบต. เราทำง่ายๆ เราดูแลกันในชุมชน ก็คงจะเอาชุมชนรับรองกันเอง เราไม่เรียกร้องค่าบริการ เราช่วยเหลือรักษาตามภูมิปัญญา ส่วนที่จะมาบำรุงก็เป็นเรื่องหนึ่ง ตามศรัทธา เห็นหลายคนว่ามีตัวอย่างที่โรงพยาบาลนั้นนี้ทำ อยากทำเป็นต้นแบบของ อบต. ให้คนอื่นดูบ้างว่า อนาคตถ้าท้องถิ่นมาทำ ถ้าดี เขาจะเอาตัวนี้ไปทำต่อ” สำหรับการรับรองจากชุมชนที่ว่านี้ก็คือการออกใบประกาศเกียรติคุณให้แก่หมอพื้นบ้านที่ได้รับการคัดสรรแล้วว่ามีความเชี่ยวชาญจริง

 “หลังจากชุมชนรับรองโดยประชาคม เหลือแต่คณะกรรมการกลั่นกรองเอามาจากหลายฝ่าย มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องส่วนที่เป็นเครือข่าย มากลั่นกรองว่าที่หมู่บ้านคัดกรองมา มันจริงหรือไม่ ผมกำลังทำข้อมูลตัวนี้ขึ้นมาเพื่อให้คณะกรรมการได้ดูว่า หมอพื้นบ้าน แต่ละคนมีประวัติอย่างไร มีความเชี่ยวชาญโรคอะไรคณะกรรมการจะมากลั่นกรอง จากนั้นก็จะเป็นเวทีที่จะประกาศให้คนทราบว่า เป็นลักษณะมอบใบรับรอง เชิดชูเกียรติ งานนี้ส่วนกลางจะมาดูด้วย”

เขากล่าวถึงเป้าหมายในท้ายที่สุด หากคนในชุมชนมีปัญหากายใจ ไปศูนย์บำบัดทุกข์ฯของหมอพื้นบ้านวังแสงเปิดต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความเป็นกันเอง ภายในตัวอาคาร มีป้ายขนาดใหญ่ติดไว้เหนือศีรษะบริเวณด้านหน้าประตู แสดงภาพถ่ายหมอพื้นบ้านตำบลวังแสงทั้งสงฆ์และฆราวาสประมาณ 50 คน พร้อมข้อความ “ทำเนียบภูมิปัญญาหมอยาพื้นบ้านตำบลวังแสง” และรายชื่อคณะกรรมการศูนย์บำบัดทุกข์ สร้างสุขภาพชุมชนโดยภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน อบต.วังแสง

ขั้นตอนการให้บริการที่นี่ เวลานี้ยังไม่มีอะไรซับซ้อน พ่อสมดี(หมอพื้นบ้าน) อธิบายว่า “ถามว่าเป็นหยัง เป็นโรคอันใดเบิ้ง บอกอาการ ถ้าพอชอยเหลือได้ก็ช่วย ถ้าช่วยไม่ได้ก็บ่เฮ็ด” เมื่อมีคำถามต่อว่า อาการอย่างไรที่ช่วยไม่ได้ พ่อสมดีตอบว่า “หมอจับเส้นก็ดูอาการ อย่างถ้าเป็นโรคตับ บีบบ่ได้ บ่บีบ” เมื่อให้บริการเสร็จเรียบร้อย สิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งก็คือ การลงบันทึกผู้ใช้บริการในสมุด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะคอยอำนวยความสะดวกและช่วยบันทึกให้ว่าเป็นใคร มาปรึกษาปัญหาสุขภาพเรื่องใด ข้อมูลเหล่านี้มีความหมายมากเนื่องจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการติดตามประเมินผลในอนาคตซึ่งนายก อบต. วังแสงให้ความสำคัญ “ต้องประเมินเป็นระยะ แต่ละกิจกรรม ว่าเราทำได้ดีหรือไม่ สุดท้ายดูสิ้นปีประเมินภาพรวม ก็เลยไปคุยกับคณะทำงานว่าเราต้องมีคณะทำงานมาประเมินชุดหนึ่ง” เป็นคำอธิบายจากสมนึกก่อนหน้านั้น

การแปรนโยบายการดูแลสุขภาพชุมชนให้เป็นการปฏิบัติ สำหรับองค์กรท้องถิ่นที่มีผู้นำเด่นและมีเครือข่ายเข้มแข็งอย่าง อบต.วังแสง อาจจะยังต้องผ่านการเรียนรู้อีกมากมายตามวันเวลา ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายเรื่องการแพทย์พื้นบ้านที่ยังไม่มีบทสรุปชัดเจน ความเข้มแข็งของหมู่คณะหมอพื้นบ้านด้วยกัน การบริหารจัดการภายในศูนย์ฯ ฯลฯ แต่ด้วยสัมมาทิฐิที่อยู่บนความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยมของผู้นำที่เต็มไปด้วยประสบการณ์งานพัฒนาคนนี้ ไม่เพียงแต่ชาวบ้านวังแสงเท่านั้นที่รู้สึกวางใจมั่นใจ พร้อมไปกับความเต็มใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทว่าภาคีจากนอกชุมชน และบุคคลภายนอกซึ่งมีโอกาสมาเยี่ยมเยียนการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งของตัวผู้นำและคณะทำงานของเขาที่นี่ ก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันว่าที่นี่ มีความโดดเด่นและเป็นชุมชนที่หันมาพึ่งตนเองด้านสุขภาพบนศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ และนั่นเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดเอาไว้ให้กับลูกหลานในชุมชนนั่นเอง

 

 

 

ที่มา : มูลนิธิสุขภาพไทย

Shares:
QR Code :
QR Code