‘ศูนย์ปิ๊กมาดี’ ขยะหนึ่งถุง สู่กองทุนแห่งความสุขของผู้สูงวัย
ที่มา : สยามรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว ลูกหลานออกไปทำงานต่างถิ่น ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวลคิดว่าไม่มีคนสนใจสภาพเหล่านี้เกิดขึ้นที่บ้านทุ่งหก ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยพบว่ามีผู้สูงอายุ 3 คน เป็นโรคซึมเศร้าคิดฆ่าตัวตาย จากปัญหาดังกล่าวเกิดการรวมตัวของคนหนุ่มสาวในชุมชนนำมาสู่การตั้ง"ศูนย์ปิ๊กมาดี" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มแรกมีสมาชิกประมาณ 40 คน
นายกฤษฎา เทพภาพ เลขาธิการศูนย์ปิ๊กมาดี เล่าว่า เน้นกิจกรรมการจัดการขยะในหมู่บ้าน โดยชักชวนผู้สูงอายุผู้ด้อยโอกาส และสมาชิกทุกคน มาร่วมทำกิจกรรมคัดแยกขยะในครัวเรือน โดยการนำมาบริจาค และนำมาขายให้กับศูนย์ฯ ภายใน 1 ปี ศูนย์ฯ จะเปิดรับซื้อขยะ 4 ครั้ง ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะต้องนำขยะมาขายสะสมให้ได้คนละ 50 บาท ทั้งนี้ศูนย์ฯจะนำขยะดังกล่าวไปขาย เพื่อนำเงินมาเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิก หากเจ็บไข้ต้องนอนโรงพยาบาล ซื้อรถเข็นให้กับผู้พิการในชุมชนได้ใช้ หรือใช้ในกรณีเสียชีวิต
"ทางศูนย์ฯ รับซื้อขยะตามราคาตลาด แยกชนิด เช่น กระดาษราคากิโลกรัมละ 2 บาท ถ้าขยะที่ไม่แยกกิโลกรัมละ 1.50 บาท หรือซื้อเหมากระสอบละ 5 บาท ซึ่งขยะที่ชาวบ้านนำมาขายส่วนใหญ่เป็นกระดาษ กระป๋องเบียร์ ขวดพลาสติกเศษพลาสติกต่างๆ นอกจากนี้ยังมีขยะเปียกเศษอาหารเรานำมาเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำเป็นปุ๋ยใส่ผักอีกครั้งหนึ่ง โดยรวมแล้วพบว่าขยะที่ชาวบ้านนำมาขายได้เดือนละ 8,000 บาท" นายกฤษฎา กล่าว
บ้านทุ่งหก มีประมาณ 258 ครัวเรือนประชากร 771 คน ที่ผ่านมาทาง สสส. สำนัก6 ให้เก็บข้อมูลพบว่าในหมู่บ้านมีขยะ 630 กิโลกรัมต่อวัน ในจำนวนขยะดังกล่าวมีขยะเปียก ขวดพลาสติก ขวดแก้ว และเหล็กรวมอยู่ด้วยโดยไม่ผ่านการแยก แต่เมื่อมีการแยกขยะพบว่ามีขยะ 200 กิโลกรัมต่อวัน และปัจจุบันขยะลดลง เนื่องจากประชาชนรู้จักแยกขยะและมาขายให้กับศูนย์ฯ ขณะนี้สามารถจัดการขยะได้ 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีประชาชนอีกครึ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของศูนย์ฯ
เลขาธิการศูนย์ปิ๊กมาดี บอกต่อว่า นอกจากมีการคัดแยกขยะในครัวเรือนแล้ว มีจัดกิจกรรมในวันสำคัญ โดยกลุ่มผู้สูงอายุเดินเก็บขยะริมถนนภายในชุมชน ที่สำคัญทางศูนย์ฯ มีนักสืบขยะเป็นเด็กนักเรียนในพื้นที่ปั่นจักรยานสำรวจถ่ายรูป จดบันทึกข้อมูล วันเวลา สถานที่ที่พบเจอขยะแล้วนำมาหย่อนในกล่องความลับ ซึ่งตนเป็นผู้เปิดอ่าน แล้วไปพูดคุยทำความเข้าใจกับบ้านที่ทิ้งขยะเรี่ยราด ซึ่งสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
ด้าน นายเจษฎา ปาระมี ประธานศูนย์ปิ๊กมาดี อธิบายว่า สโลแกนของศูนย์ปิ๊กมาดี คือ "แค่เราเอาหัวใจใส่ทุกอย่างลงไป ทุกอย่างก็จะกลับมาดี" ตนพยายามย้อนวันเวลาและสิ่งดีๆ ในอดีตให้พวกเขาเห็นภาพเหล่านั้นและรู้สึกว่ามันมีความสุข จึงเกิดการรวมตัวทำกิจกรรม ซึ่งในศูนย์ปิ๊กมาดีมี 9 ปิ๊ก(กลุ่ม) ประกอบด้วย ปิ๊กมาดี ปิ๊กมาเตี่ยมบุญปิ๊กมาอุ่น ปิ๊กมาเปิ้ง ปิ๊กมาม่วง/รำ ปิ๊กมาสุขปิ๊กมาเก่ง ปิ๊กมาฮัก และปิ๊กมายิ้ม ปัจจุบันสมาชิกมีจำนวน 400 คน ประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือ บ้านทุ่มหก และบ้านน้ำจำ มีผู้สูงอายุประมาณ 237 คน เป็นผู้พิการ ประมาณ 62 คน
ประธานศูนย์ปิ๊กมาดี เพิ่มเติมต่อว่าสำหรับเงินกองทุนสวัสดิการใน 1 ปี จำนวน 200,000 บาท นำไปสู่การสร้างอาชีพ ใช้เป็นต้นทุนในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ให้ในแต่ละกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มเย็บผ้าห่ม กลุ่มจักสาน และกลุ่มปลูกผักขาย ฯลฯ ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้
"กลุ่มอาชีพในศูนย์ปิ๊กมาดีไม่ได้บริหารจัดการว่า ใครทำมากได้มาก ใครทำน้อยได้น้อย แต่ทุกคนได้เท่ากันหมด คนที่แข็งแรงกว่า เก่งกว่าจะต้องช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่าซึ่งจะทำให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเกิดความรักและมีความสุขในการทำงาน ผลิตภัณฑ์ของที่นี่จึงไม่สามารถผลิตทีละมากๆ ได้เพราะพวกเขาใส่ใจความรู้สึกและความรักในชิ้นงานของเขา" ประธานศูนย์ปิ๊กมาดี กล่าว
นางบัวจันทร์ กัลยา อายุ 59 ปี สมาชิกกลุ่มเย็บผ้าห่ม กล่าวว่า มีหน้าที่ในการเย็บผ้านวมด้วยโดย 1 ผืนใช้ต้นทุนประมาณ150 บาท ขายผืนละ 240 บาท ซึ่งผ้าห่มที่นี่พิเศษคือได้มาตรฐาน เย็บด้วยมือจะแข็งแรงกว่าเย็บด้วยจักรหรือเย็บจากโรงงานและใช้ใยไหมโพลีใหม่ทั้งหมด ที่สำคัญมีคุณค่าทางจิตใจ ได้มาเจอเพื่อนๆ ได้ช่วยเพื่อนสมาชิกด้วยกัน ทำให้เรามีความสุข
ขณะที่นายอินคำ ปาระมี อายุ 69 ปีสมาชิกกลุ่มจักสาน บอกว่า มาเข้าร่วมกลุ่มอาชีพตนไม่ได้คิดถึงรายได้ แต่ได้ออกจากบ้านมาเจอเพื่อนๆ ได้พูดคุย หัวเราะ มีความสุขที่ทำกิจกรรมร่วมกันทำให้ไม่เครียด ส่วนรายได้ต่อวันทุกคนได้เท่ากันหมด หัก 5 เปอร์เซ็นต์บริจาคเข้าศูนย์ปิ๊กมาดีเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิก เฉลี่ยมีรายได้วันละ 30 บาทต่อคน เดือนละ 900 บาท และรวมเงินเบี้ยยังชีพเดือน ละ600บาท เท่ากับหนึ่งเดือนได้1,500 บาท
อย่างไรก็ตามในอนาคตศูนย์ปิ๊กมาดีตั้งเป้าดูแลสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้ปุ๋ยจากมูลไส้เดือนที่มาจากขยะเปียก และรณรงค์ให้ทุกบ้านปลูกผักกินเอง งดซื้อผักนอกบ้าน นี่คือสิ่งที่ศูนย์ปิ๊กมาดีตั้งเป้าจะไปให้ถึง เพื่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน