ศึกษาตัวอย่าง ฟังจากล่างขึ้นบน ดึงพลังชุมชนสานต่อ
องค์ความรู้เหล่านี้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นๆ และมีกองทุนหนุนเสริม เช่น กองทุน สปสช. และ สสส. ให้เราได้เรียนรู้จากตำบลที่เข้มแข็ง แล้วนำกลับมาประยุกต์ใช้
นายศานิต กล้าแท้ นายกบริหารส่วนตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เล่าว่า ตำบลโพนทองเข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กว่า 2 ปีแล้ว และขึ้นเป็น ‘ตำบลศูนย์เรียนรู้’ ประมาณ 1 ปี ก่อนหน้านั้นเราได้เรียนรู้การทำงานทั้งทางวิชาการ การจัดการ การวางทีม การทำงานร่วมกันกับทีมอื่นๆ ซึ่งล้วนสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานของท้องถิ่นได้ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยลง”
สำหรับการทำงานในพื้นที่ เมื่อก่อนเราเน้นเรื่องการศึกษาโดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราอยากจะให้คนของตำบลเราเป็นคนที่ดี มีคุณภาพเรื่องของการศึกษาจึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยมีการขับเคลื่อนที่ชัดเจน เช่น มีการสอนภาษาอังกฤษช่วงปิดเทอม โดยเชิญครูจากต่างประเทศมาสอน หรือก่อนที่จะมาเป็นตำบลสุขภาวะ เราส่งเสริมให้ชาวบ้าน ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมีแล้วส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งตอนนี้สามารถลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยเคมีลงได้จำนวนมากต่อปี ถือว่าเป็นรูปธรรมที่ทำให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
ในด้านสุขภาพ เรามองเห็นปัญหาคนพิการที่เป็นอัมพฤกษ์ เพราะจังหวัดชัยภูมิด้อยเรื่องการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดสมองแตก เส้นเลือดตีบในสมอง อันนำไปสู่การเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ในตำบลมีผู้ป่วยลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก จากประชากร 8,865 คน มีผู้เป็นอัมพฤกษ์ 57 ราย ตัวเลขการสำรวจนี้ได้มาจากการออกเดินหาเสียงของผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทำให้เห็นปัญหาต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ฐานข้อมูลเบื้องต้นเช่นนี้เองที่จะเป็นตัวกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลท้องถิ่น นำมาสู่โครงการดูแลผู้พิการในพื้นที่
โครงการดูแลผู้พิการนี้ เป็นรูปเป็นร่างและประสบความสำเร็จได้ก็เพราะการเรียนรู้จากเครือข่าย และที่สำคัญคือ การทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปี 2550 ผ่านมา 4 ปี จนถึงวันนี้ผู้พิการติดเตียงที่ตำบลโพนทอง 57 ราย สามารถเดินได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ 4 รายแล้ว และยังมีส่วนที่สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัวได้อีก 30 กว่าราย นั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่ได้ไฟื้นฟู ดูแลผู้พิการเหล่านี้อย่างถูกวิธี พวกเขาก็ยังคงเคลื่อนไหวไม่ได้แล้วเป็นภาระของครอบครัวต่อไป
สำหรับการดูแลนั้นจะทำโดยอาสาสมัครผู้มีจิตอาสาในชุมชน มีค่าตอบแทนให้คนละเล็กละน้อย โดยนำมาจาก สปสช. และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตำบลของเราเป็นตำบลที่สมทบงบประมาณมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ คือสมทบถึง 150 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลจากการที่สมาชิก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องถิ่นเห็นปัญหาตรงนี้ จึงสมทบงบประมาณเข้าไป ทำให้ผู้พิการของเราไม่จำเป็นต้องรอแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยไม่ต้องส่งโรงพยาบาลจังหวัดซึ่งมีภาระต้องดูแลคนจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการเรื่องนี้ได้เองโดยใช้จิตอาสาบวกกับการเรียนรู้ร่วมกับเครือข่าย ทำให้ผู้พิการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีมีความเป็นมนุษย์ นี่ถือว่าเป็นงานสำคัญในมิติของสุขภาพ
นอกการดูแลผู้พิการแล้วเรายังเน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะเรื่องน้ำเสีย ประชาชนมักทิ้งน้ำมันพืชที่ใช้แล้วลงในแหล่งน้ำทำให้น้ำเสีย จากการที่เราได้ร่วมเป็นตำบลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูการทำไบโอดีเซลที่ปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบกับก่อนหน้านั้นได้ศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริฯ ในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ทอดซ้ำไม่เกิน 3 ครั้ง เราจึงนำหลักการเหล่านี้มาประยุกต์ใช้
จากที่เห็นว่าต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้ช่วยทำโครงการนี้ โดยให้งบประมาณ จนถึงปัจจุบันเราได้ขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องนี้กับคนในพื้นที่ ไม่ให้ใช้น้ำมันทอดอาหารเกิน 3 ครั้ง แล้วนำน้ำมันมาจำหน่ายให้กับศูนย์ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จากนั้นผลิตน้ำมันไอโอดีเซลมาขายให้ อบต. แล้ว อบต.ก็เอามาเติมรถไถไปไถกลบซังข้าวในนาให้ชาวบ้าน นำไปเติมรถรับส่งเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อบต. นอกจากจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้แล้วยังเป็นการลดปัญหาเรื่องสุขภาพด้วย
การก่อตัวของแต่ละโครงการ เราเพียงแต่จุดประกายและชี้ให้เห็นโทษหรือผลของมัน แรงกระเตื้องจากชุมชนก็จะเกิดขึ้นเอง เช่น การชี้ว่า โรคมะเร็งเกิดขึ้นมาจากอะไร การใช้น้ำมันพืชทอดซ้ำไม่เกิน 3 ครั้งจะช่วยป้องกันมะเร็งได้อย่างไร ใช้กำลังหลักคือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข รวมกับข้าราชการบำนาญที่มีจิตอาสา โดยการประกาศเชิญชวนให้เข้ามาร่วม ถอดองค์ความรู้หรือประสบการณ์ที่เขามาอยู่ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับชุมชนทุกแห่ง ในการดึงคลังสมอง ดึงประสบการณ์จากข้าราชการบำนาญที่มีอยู่ทุกพื้นที่ ที่สำคัญ เรายังออกแบบระบบการจ่ายเงินให้สะดวกกับประชาชนมากขึ้น ด้วยการกำหนดว่า หากใครนำน้ำมันพืชมาขายก็สามารถนำมูลค่าดังกล่าวมาชำระค่าน้ำค่าไฟได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปจ่ายไกลถึงในเมือง
องค์ความรู้เหล่านี้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นๆ และมีกองทุนหนุนเสริม เช่น กองทุน สปสช. และ สสส.ที่เข้ามาหนุนเสริมให้เราได้เรียนรู้จากตำบลที่เข้มแข็งแล้วนำกลับมาประยุกต์ใช้
สำหรับกระบวนการกำหนดโครงการหรือยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้น คงไม่มากเกินไปที่จะกล่าวว่า ตำบลของเราเป็นตำบลที่ใช้การมีส่วนร่วมสูงมาก ผ่านเวทีชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่นโยบายแบบบนลงล่างเช่นพื้นที่อื่น แต่เป็นการบริหารแบบสั่งจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน โดยตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกข้าราชการใน อบต.จะต้องออกไปรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ของทั้ง 12 หมู่บ้านซึ่งมีการจัดประชุมทุกเดือน ทำให้เราพบเจอปัญหาที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่และถือโอกาสในการนำข้อมูลพื้นที่มาหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ทำให้ชุมชนเกิดความพึงพอใจ
ทั้งนี้ เวทีในลักษณะนี้เกิดขึ้นในช่วงปัญหายาเสพติดระบาดหนัก เมื่อปี 2546-2548 หน่วยงานราชการทั้งอำเภอ หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราปรามยาเสพติ (ปปส.) ได้เข้ามาสร้างเวทีชุมชนเข้มแข็ง เพื่อค้นหาผู้ค้า-ผู้เสพในท้องถิ่น แล้วนำออกมาทำสัญญาเลิกค้าเลิกเสพ จากการทำเวทีแก้ปัญหายาเสพติดก็ค่อยๆ พัฒนามาสู่เวทีชุมชนเข้มแข็งที่เป็นกลไกสะท้อนปัญหาทุกปัญหาในพื้นที่ได้อย่างดี
นอกจากนี้เรายังใช้เวทีชุมชนเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้ชรา หรือการให้ทุนเยาวชนที่ยากจนเป็นประจำทุกเดือน หรือแม้กระทั่งการคัดเลือกนักเรียนเพื่อส่งไปเรียนคณะพยาบาลศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ใช้วิถีการจัดการโดยให้ชุมชนเป็นผู้คัดเลือกเองเป็นอันดับแรก
ถึงที่สุด หลายโครงการที่เราดำเนินการก็ยังเรียกไม่ได้ว่าประสบผลสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น การ ลดละการใช้สารเคมี แต่ก็ยังไม่เลิกเสียทีเดียว ผู้บริหารและเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะก็ยังต้องดำเนินงานต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ความยั่งยืนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวบุคคล อย่างนายก อบต. หรือทีมบริหารชุดปัจจุบัน หากแต่อยู่ที่ประชาชนในชุมชน และแหล่งเรียนรู้ที่กระจายอยู่ในชุมชนทั้งหมด 28 แหล่ง ผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามา ไม่ว่าจะอย่างไรก็น่าจะขับเคลื่อนงานนี้ต่อไปได้ เพราะแหล่งทั้ง 28 แหล่งและบ้านโฮมสเตย์ ได้กระจายอยู่ทุกหมู่บ้าน
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดรายได้ เกิดการเรียนรู้ของประชาชนขึ้นแล้ว และยังมีการเชื่อมร้อยเครือข่ายกันทั่วประเทศ นี่คือหลักประกันที่มั่นคงสำหรับแนวทางที่เรากำลังร่วมกันดำเนินอยู่ว่า มันจะยังคงพัฒนาต่อไปได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ