ศิริราชเปิดยุทธวิธีทาร์เก็ต อินเตอร์เวนชั่นสกัดโควิด-19 ระลอก 2
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
หลังจากองค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า New and Dangerous Phase เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นนั้น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงยุทธวิธีที่ประเทศไทยควรจะนำมาใช้ควบคุมโรคโควิด-19 หากเกิดการระบาดในประเทศระลอกที่ 2 ว่า Targeted Intervention หรือการดำเนินการที่มุ่งเป้าหรือจำเพาะเจาะจง คือ ยุทธวิธีที่หลายประเทศนำมาใช้เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ และได้ผลดี โดยทำให้ผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในสังคมน้อยกว่าการปิดเมือง (Lockdown) อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกันการระบาดในรอบแรก
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ทาร์เก็ต อินเตอร์เวนชั่น จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการประสานงานกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายปกครอง เป็นผู้กำหนดนโยบายและมาตรการ 2.ผู้ประกอบการ ผู้นำนโยบายและมาตรการไปปฏิบัติ และ 3.ผู้ใช้บริการ เป็นผู้ได้รับผลจากนโยบายและมาตรการ โดยทุกอย่างจะต้องทำงานร่วมกันให้เกิดความสมดุล
"ผู้ประกอบการจัดให้มีจุดแอลกอฮอล์ล้างมือ เว้นระยะห่าง ผู้รับบริการจะต้องใช้ไทยชนะ ซึ่งขณะนี้พบว่า บางร้านยังไม่มีการติดตั้ง หรือบางร้านที่เคยติดตั้งแล้วกลับเอาออก ซึ่งเกรงว่า สิ่งเหล่านี้เราชะล่าใจ เพราะเรายังไม่เกิดระบาดระลอก 2 แต่ผมย้ำว่า ถ้ามันมา และสิ่งเหล่านี้ไม่มี เราคุมยากมาก เพราะจะไม่สามารถหา กลุ่มเสี่ยงเพื่อสืบสวนโรคได้ ขอความกรุณากลับมาปฏิบัติ" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวศ.นพ.ประสิทธิ์อธิบายว่า ยุทธวิธีทาร์เก็ต อินเตอร์เวนชั่น ใน 1 เมือง ที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย หากพบว่าบางกิจกรรมที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ และเกี่ยวข้องการคนจำนวนมากในพื้นที่ ต้องปิด แต่หากพบว่าเกิดขึ้นในกิจกรรมนั้น และไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับกิจกรรมอื่น ก็จะต้องควบคุมเฉพาะกิจกรรมนั้น กิจกรรมอื่นก็สามารถดำเนินการต่อไปได้
"ส่วนในระดับจังหวัด หากปรากฏว่ากิจกรรมเดียวกันเกิดการระบาดในหลายจังหวัด ก็จะต้องไปพิจารณากำหนดมาตรการที่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพและจะต้องทบทวนใหม่ ในทางกลับกัน หากกิจกรรมเดียวกัน แต่ไม่ใช่ในทุกแห่งของกิจกรรม เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า แต่ไม่ใช่ทุกร้านหรือทุกห้างที่เกิดการระบาด หมายความว่า เกิดปัญหาในการนำมาตรการไปใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะต้อง จัดการกับสถานที่นั้นๆ และสถานที่อื่นก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ผู้ประกอบการจะต้องนำมาตรการมาใช้ให้ถูกต้อง
ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการก็เป็นตัวควบคุมได้ เช่น หากร้านค้าใดที่เป็นแหล่งระบาด ก็ไม่เข้าไปใช้บริการที่แห่งนั้น โดยวิธีนี้จะเกิดเป็นกลไกการควบคุมขึ้นเอง คือ เมื่อผู้ใช้บริการไม่เข้าไปใช้ ผู้ประกอบกิจการก็ต้องปรับตัว ต้องทำให้มาตรการต่างๆ กระชับ ปลอดภัยมากขึ้น" ศ.นพ.ประสทธิ์กล่าว
หากเกิดกระบวนการเช่นนี้ เรียกว่า ฟีดแบ๊ก ลูป (Feedback loop) หากทำได้ จะทำให้ประเทศไทยยังมี COVID Safe Economy and Everyday Life คือ เศรษฐกิจและการใช้ชีวิตที่ปลอดภัยจากเชื้อ โควิด-19 หากมีการแพร่ระบาดเข้ามาสิ่งที่ดีที่สุดคือ แค่มีการติดเชื้อ แต่ไม่มีการแพร่ระบาด
"ทุกคนมีโอกาสช่วยประเทศด้วยการดูแลสุขภาพตนเอง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย เช็กอินเช็กเอาต์เมื่อเข้าบริการสถานที่ การ์ดอย่าตก และอย่ายกเว้น ทุกคนต้องปฏิบัติมาตรการเดียวกัน เพราะทุกคนมีโอกาสจะทำให้ประเทศพลาด หากเราช่วยกัน ต่อให้มีการระบาดระลอก 2 บ้าง จะไม่รุนแรง แต่เราต้องช่วยกัน อย่ารอให้มีคนเสียชีวิตเยอะ หรือเศรษฐกิจแย่ลงไปเยอะ แล้วเราค่อยมองย้อนหลัง เราก็จะเสียดายสิ่งที่เราไม่ได้ทำ" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว