`ศาลเยาวชนและครอบครัว` มุ่งแก้ไขไม่ให้เด็กทำผิดซ้ำ

"ศาลเยาวชนและครอบครัว มาจากแนวคิดที่ว่า "เด็ก" เป็นต้นทุนทางสังคม เป้าหมายจึงไม่ได้เน้นที่การลงโทษ แต่เน้นการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูไม่ให้เด็กหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ปัจจัยสาคัญที่สุดก็คือ เด็กอยากที่จะแก้ไขตัวเองหรือไม่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก ในเรื่องนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีเป็นต้นแบบของการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู"


'ศาลเยาวชนและครอบครัว' มุ่งแก้ไขไม่ให้เด็กทำผิดซ้ำ thaihealth


การแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูไม่ให้เด็กหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ หนึ่งในผู้แบกรับหน้าที่สำคัญนั้นคือ "ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว"


ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นบุคคลซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดและได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มาปฏิบัติหน้าที่ในทางตุลาการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด คดีครอบครัว และคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ผู้พิพากษาสมทบต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรมและปราศจากอคติ ประพฤติตนถูกต้องตามกฎหมายและทำนองคลองธรรม อยู่ในกรอบศีลธรรม จริยธรรม ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจน มีความเสื่อมใสในสถาบันครอบครัว ต้องยึดมั่นในคำปฏิญาณตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ


อัตราผู้พิพากษาสมทบทั่วประเทศที่ตั้งไว้มีทั้งสิ้น 7,470 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ได้รับการแต่งตั้งเพียง 2,470 คนหรือแค่ 33 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการของผู้พิพากษาสมทบทั่วราชอาณาจักรจะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี ในครั้งนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2558 ณ ศูนย์ประชุมพีช โรงแรม รอยัลคลิฟ โฮเต็ลกรุ๊ฟ พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีจุดประสงค์สำคัญ คือ การร่วมกันรับฟังนโยบายจากผู้บริหาร ร่วมกันหาแนวทางการทำงานโดยการระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทราบถึงบทบาทของตนเองที่มีต่อเด็กและเยาวชนในอนาคต


พิธีเปิดการประชุมได้รับเกียรติจาก ดิเรก  อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม หลังจากนั้น มีการบรรยายพิเศษจาก ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุลเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา โดยให้ข้อคิดว่า มีคำสามคำที่ยิ่งใหญ่ในการทำงาน คือ คำว่า "ตำแหน่ง หน้าที่และความรับผิดชอบ"


คำว่า ตำแหน่ง ถ้าคนทำงานมองแค่เป็นของโก้เก๋ไว้เพื่อเชิดชูศักดิ์ศรีแต่ไม่ได้ทำด้วยใจ ตำแหน่งนั้นก็ไร้ซึ่งความหมาย คำที่สอง คำว่า หน้าที่ ท่านกล่าวว่า หน้าที่ของผู้พิพากษาสมบทนั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลออกมานอกขอบเขตของศาล และเป็นหน้าที่ที่มีส่วนร่วมอย่างใหญ่หลวงในการแก้ไขปัญหาสังคม


คำที่สาม คำว่า ความรับผิดชอบ ท่านกล่าวว่า สังคมเรามีความรับผิดชอบน้อยลงไปทุกที การทำงานเป็นการทำงานแบบมาแต่กายและตำแหน่ง แต่ไม่มีความรับผิดชอบที่เกิดจากจิตสำนึกและการทำด้วยใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีความสามัคคีในการทำงาน คำถามคือทำอย่างไรให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการถักทอและขับเคลื่อนให้ได้ เพราะหน่วยงานราชการของเราต่างฝ่ายต่างทำ ขาดการประสานงานกัน


แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่เสียกำลังใจในการที่จะทำ เพราะก่อนที่เราจะร่วมมือกับ UN หรือเข้าสู่ AEC เราต้องร่วมมือของเราให้ได้ก่อน ตัวอย่าง โครงการ One Step Service ของชาวนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวทรงรวมศูนย์พัฒนา 15 หน่วยงานมาอยู่ในที่เดียวกันเพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการได้เบ็ดเสร็จ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายผลเป็น 6 ศูนย์ทั่วประเทศ ความสามัคคีนี้เองที่จะทำให้เกิดพลังและนำไปสู่การบริหารจัดการที่ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ


ปิดท้ายการประชุมในภาคเช้าด้วยการบรรยายของ สุภัทร อยู่ถนอม อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ท่านกล่าวว่า ศาลเยาวชนและครอบครัว มาจากแนวคิดที่ว่า "เด็ก" เป็นต้นทุนทางสังคม เป้าหมายจึงไม่ได้เน้นที่การลงโทษ แต่เน้นการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูไม่ให้เด็กหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือ เด็กอยากที่จะแก้ไขตัวเองหรือไม่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก ในเรื่องนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีเป็นต้นแบบของการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู ซึ่งในการทำแผนดังกล่าวผู้พิพากษาสมทบต้องทำด้วยความที่มีจิตเมตตาแล้วจะเกิดความรู้สึกที่อยากจะแก้ไข เพราะต้องทำงานอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยมีนโยบายให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมแบบยั่งยืนเพื่อทำงานเชิงรุกไม่ให้เด็กที่กระทำความผิดหลุดรอดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อีก ผ่าน โครงการเครือข่ายยุติธรรมเด็ก เยาวชนและครอบครัว แบบมีส่วนร่วมระดับชาติและมิติภาคปฏิบัติดำเนินการผ่านโครงการจังหวัดนำร่องกระบวนการยุติธรรมเด็ก เยาวชนและครอบครัว


ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์จึงได้จัดทำ โครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิ ภาพเด็ก เยาวชนและครอบครัวในกระบวนการยุติธรรม Project on enhancing Co-Operation in Protecting the rights of Children in conflict with the law  หรือมีชื่อย่อว่า CPC โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) โดยมี อภิรดี  โพธิ์พร้อม ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นหัวหน้าโครงการ


โครงการนี้เริ่มมาจากงานวิจัยที่จังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี พบว่า หัวใจสำคัญของงานอยู่ที่ความร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของวัตถุประสงค์ในการทำโครงการเพื่อสร้างเสริมและพัฒนาความร่วมมือของเครือข่ายแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและเสริมสร้างสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและครอบครัวแบบมีส่วนร่วมระดับชาติ และระดับภูมิภาคโดยผ่านโครงการย่อยที่มีชื่อว่า โครงการเครือข่ายยุติธรรมเด็ก เยาวชนและครอบครัวแบบมีส่วนร่วมระดับชาติ


ส่วนอีกสองวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู และเสริมสร้างสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและครอบครัวในศาลเด็กเยาวชนและครอบครัว ตลอดจนวัตถุประสงค์ ในการพัฒนาระบบการดำเนินงานด้านจิตสังคมในกระบวนการยุติธรรมเด็ก เยาวชนและครอบครัว จะดำเนินการผ่านโครงการจังหวัดนำร่องกระบวนการยุติธรรมเด็ก เยาวชนและครอบครัวแบบมีส่วนร่วม โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน ซึ่งเริ่มดำเนินงานไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา และจะทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกับ 14 กระทรวง และ 12 หน่วยงานอิสระ รวมถึง UNICEF และ UNODC ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ด้วย


โดยจำนวนคดีที่ขึ้นสู่ศาลเด็ก เยาวชนและครอบครัวในปี พ.ศ. 2556-2558 เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขจะเห็นว่าคดีแพ่งและคดีอาญาลดลง คดีคุ้ม ครองสวัสดิภาพจะเพิ่มขึ้น จึงอยากให้ผู้พิพากษาสมทบทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ออกไปให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนก็อาจมีส่วนทำให้คดีลดลง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิดแล้วมีความยุ่งยากในเรื่องการปฏิบัติงาน ในเรื่องคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ซึ่งตรงนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้เปิดศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำรุนแรงมาขอความช่วยเหลือ


การสัมมนาในช่วงบ่ายเป็นเรื่องของการระดมความคิดเรื่องบทบาทผู้พิพากษาสมทบสู่อนาคตเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยมีหัวข้อในการประชุมแบ่งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกในหัวข้อ ผู้ประนีประนอมกับประสิทธิภาพในการจัด การคดีครอบครัว กลุ่มต่อมาหัวข้อ การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานงานผู้พิพากษาสมทบ เพื่อความร่วมมือในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชน กลุ่มที่ 3 ในหัวข้อ บทบาทของผู้พิพากษาสมทบกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กลุ่มสุดท้ายในหัวข้อ รวมพลังสร้างเด็กคุณภาพสู่สังคม โดยโครงการ CPC ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาแสดงปาฐกถาพิเศษให้ฟังว่า สังคมไทยปัจจุบันมีเด็กที่มีคุณภาพโดดเด่นอยู่มาก แต่เด็กบางส่วนอาจไม่ได้คุณภาพ เพราะสังคมของเราสร้างเงื่อนไขให้เด็ก เยาวชน ในทิศทางที่ทำให้เกิดปัญหา และขาดการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ เช่น การเชื่อมต่อระหว่างคนและหน่วยงาน หลายองค์กร หลายพื้นที่ ทำงานซ้ำซ้อนกัน ขัดแย้งกัน โยนความผิดซึ่งกันและกัน โดยยกตัวอย่างแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กดีมีสุข อยู่ในบ้าน ในโรงเรียน เกิดในบ้านหรือครอบครัวที่ดี ได้รับการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาดีจะได้เติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพของสังคม


อีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีโรคเซาะกร่อนคุณภาพภายในและพร้อมที่จะตกเป็นเหยื่อของสังคม ถ้าไม่มีกลไก กระบวนการและกลุ่มบุคคลต้องช่วยกันป้องกันไว้ล่วงหน้ามิให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเด็กเหล่านี้ตกอยู่ในฐานะเหยื่อ ทั้งเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำหรืออาจเป็นเหยื่อในฐานะผู้ทำร้าย


ข้อสรุปจากการระดมความคิดของตัวแทนผู้พิพากษาสมทบทั่วประเทศในแต่ละหัวข้อจะนำมาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากนี้คงต้องตั้งความหวังไว้กับการทำงานเชิงรุกของศาลเยาวชนและครอบครัวและผู้พิพากษาสมทบ ที่จะบูรณาการกับ ทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เยาวชนเหล่านี้ให้มีที่ยืนในสังคมและเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของประเทศชาติต่อไป เหมือนกับเนื้อเพลง "นี่คือเรา" ซึ่งเป็นเพลงที่อธิบดีและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันคิดและถ่ายทอดมาเป็นเพลง ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า


          "นี่คือเรา นี่คือรัก รักที่มีพลัง มีน้ำหนักรักเป็นทุน ถ่วงดุลกับความปวดร้าว


          นี่คือเรา นี่คือใจ ใจที่คอยห่วงใย ดวงตาเราเฝ้าดู ตราชูเที่ยงตรงเสมอ


          รอยบาดแผลข้างใน พลาดผิดไปเมื่อแพ้ใจ ที่เป็นมาต้องเป็นไป


          จะเป็นไร ไม่เป็นไร จะมืดมนเพียงใด เช้าวันใหม่จะมาถึง


          เมื่อรุ่งราง น้ำค้างวาวแวมแต้มแต่ง อัญมณีส่องประกาย ปลอบโยนดอกไม้ที่ร้าวราน


          ฟื้นฟูและกู้คืน ให้ยืนขึ้นอีกครั้ง มีความหวัง ผิดพลั้งใช่พ่ายแพ้"


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

Shares:
QR Code :
QR Code