‘วิ่ง’ กับ ‘มาตรฐาน’ ใหม่ที่ควรไปให้ถึง

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'วิ่ง' กับ 'มาตรฐาน' ใหม่ที่ควรไปให้ถึง thaihealth


มีประเด็นที่หลายฝ่ายต่างกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมงานวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ระยะหลังเริ่มมีนักวิ่งเสียชีวิตกะทันหันในกิจกรรมงานวิ่งหลายงาน หรือมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาผู้จัดงานวิ่งบางงาน ยังขาดมาตรฐานการจัดงานที่เหมาะสม


ท่ามกลางกระแสร่ำลือดังกล่าว  ยังเกิดการตั้งคำถามถึงมาตรฐานงานวิ่งของ คนไทยว่าควรมีบรรทัดฐานแค่ไหน? และควรจะป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรายต่อไปอีกได้อย่างไร


มาตรฐานกับการวิ่ง คงไม่ต้องบอกแล้วว่ากิจกรรมวิ่งช่วงนี้ฮ็อตฮิตแค่ไหน ก็แค่ปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีสถิติ นักวิ่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 5 ล้านคนในปี 2549 มาเป็น  15 ล้านคน ในปี 2560 (ข้อมูลโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล)


มิไยที่การจัดกิจกรรมวิ่งก็เติบโตตามดีมานด์ ว่ากันว่า ช่วงสองสามปีหลังนี้ แต่ละปีประเทศไทยมีการจัดงานวิ่งสูงขึ้น ต่อเนื่อง เฉพาะปี 2560 ที่ผ่านมางานวิ่ง พุ่งทะลุเป้าไปถึงกว่า 1,000 รายการ  เรียกว่าน่าจะมีเม็ดเงินสะพัดอยู่ในวงการวิ่งไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาทต่อปี


เมื่องานวิ่งเติบโตขึ้นพร้อมผู้จัดงานวิ่งที่หลากหลาย อาจไม่ทราบว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง ย่อมส่งผลกระทบกับ นักวิ่งนับล้านคน รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนน  และเกิดการแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ  อาจทำให้เกิดภาพลบต่อกิจกรรมงานวิ่ง


'วิ่ง' กับ 'มาตรฐาน' ใหม่ที่ควรไปให้ถึง thaihealth


ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายจาก สสส. อดีตประธานสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และผู้ริเริ่มจัดงานวิ่ง จอมบึงมาราธอน เอ่ยว่า การวิ่งเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่การออกกำลังกายอื่นๆ และเป็นการใช้ร่างกายเพื่อสร้างสุขภาวะที่ง่ายและสะดวก สามารถ ทำได้ทุกคน จึงเป็นกิจกรรมทางกายหนึ่งที่ สสส.สนับสนุนผลักดันมาต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีคนหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งมากถึง 15 ล้านคน ในปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ "กิจกรรมงานวิ่ง" ที่มีเป็นพันงานต่อปี


"ปัจจุบันมีการจัดงานวิ่งเฉลี่ยสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 20 งาน แต่นักวิ่งที่มาร่วมงานยังคิดเป็นเพียงแค่ 10% ของนักวิ่งทั้งหมด ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีนักวิ่งที่เข้าร่วมงานวิ่งมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น การจัดกิจกรรมงานวิ่งก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามเช่นกัน"


เมื่อวงการวิ่งยังต้องไปอีกไกล ทำให้ทั้งสามภาคีเพื่อสุขภาพที่เห็นความสำคัญเรื่องงานวิ่งเชิงคุณภาพ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเกิดไอเดียที่จะจัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ ขึ้นโดยเป้าหมายสำคัญคือการสร้างมาตรฐานให้กับงานวิ่งของประเทศไทยไปสู่ระดับสากล


วิ่งอย่างไรให้ Safe – Fair – Fun


พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงคู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพเล่มนี้ว่า ประเด็นหลักในมาตรฐานการจัดงานวิ่ง คือ การยึดหลัก Safe – Fair – Fun


'วิ่ง' กับ 'มาตรฐาน' ใหม่ที่ควรไปให้ถึง thaihealth


Safe  คือความปลอดภัย ซึ่งเป็นการพิจารณามองภาพรวมในทุกมิติ เช่น  การปิดถนน การจราจร ความปลอดภัยของพื้นผิวถนน การแพทย์และพยาบาล  การประกันอุบัติเหตุ การให้ความรู้กับ นักวิ่งหน้าใหม่ การอบรมการวิ่งโดยการทำคลินิกนักวิ่ง เพื่อให้นักวิ่งเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) การป้องกันการบาดเจ็บ เพื่อช่วยเหลือ ทั้งตัวนักวิ่งเอง และผู้อื่น ไปจนถึงเรื่องการจัดการน้ำดื่ม


Fair  หมายถึงความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน เป็นการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และข่าวสารเกี่ยวกับงานวิ่งที่จัด การรับสมัคร ที่เป็นระบบ มีการบันทึกข้อมูล ระบบการ จับเวลาที่เป็นมาตรฐาน สามารถทราบผลการวิ่งได้ทันทีที่เข้าเส้นชัย มีการประกาศอย่างเป็นทางการ และ


Fun  คือความสนุกสนาน โดยหลักการของนานาชาติ อนุญาตให้มีการสร้างสีสัน การแสดงประจำท้องถิ่น และนักวิ่งแฟนซี เพื่อสร้างความบันเทิงระหว่างเส้นทางวิ่ง


ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์ณรงค์เสริมว่า  ความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญที่สุด


"ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพูดเรื่อง Safety เป็นอันดับแรกในการจัดงานวิ่ง เพราะเมื่อการวิ่งเราอยู่ในลู่ในสนามที่ออกแบบความปลอดภัยไว้อย่างดี แต่พอมาวิ่งบนท้องถนน มันมีทั้งความไปปลอดภัยในเรื่องรถรา อุบัติเหตุ และมลภาวะต่างๆ ซึ่งแม้จะ ไม่สามารถควบคุมได้ 100% แต่การเฝ้าระวัง อย่างใกล้ชิดก็ช่วยลดความเสี่ยงได้"


โดย อาจารย์ณรงค์ ยังกล่าวถึงการเตรียมในด้านการแพทย์และพยาบาล และเครื่องมือสำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นอีกองค์ประกอบที่ผู้จัดไม่ควรละเลย โดยหากเป็นไปได้ต้องมีทีมที่เข้าถึงผู้ประสบเหตุได้ทันท่วงทีอย่างน้อยไม่ควรเกิน 2-3 นาที เพราะนั่นคือ Golden Minute สำคัญที่จะมีโอกาสรอดชีวิตหรือเกิดวิกฤต เช่นเดียวกับ เรื่องการทำให้นักกีฬาสดชื่น ไม่เหนื่อย เกินไป ซึ่งร่างกายมนุษย์ขาดน้ำไม่ได้ โดยเฉพาะในการวิ่งระยะไกลๆ และอุณหภูมิของอากาศที่สูงดังนั้นผู้จัดจำเป็นต้องเตรียมน้ำให้พร้อมสำหรับนักวิ่ง สำหรับคู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพที่จัดทำและเผยแพร่อยู่นี้ ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.ชี้แจงว่าเป็นการถอดองค์ความรู้ และบทเรียนจากการจัดงานวิ่ง โดยยึดหลักการ ของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ International Association of Athletics Federations (IAAF) โดยมีการนำไปทดลองใช้จริงมาแล้ว ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าการปฏิบัติตามคู่มือสามารถจัดงานวิ่งที่ดีมีคุณภาพได้จริง


'วิ่ง' กับ 'มาตรฐาน' ใหม่ที่ควรไปให้ถึง thaihealth


คนวิ่งเองก็ต้องพร้อม


ในด้านตัวนักวิ่งเอง ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ ซึ่งอาจารย์ณรงค์กล่าวว่าตัวนักวิ่งเองต้องมีการเตรียมตัววางแผนที่ดี ก่อนมางานวิ่งทุกครั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน วอร์มอัพร่างกายก่อนวิ่งเสมอ


"กรณีที่ร่างกายไม่พร้อม แต่ระหว่างวิ่งก็ควรผ่อนร่างกายให้เบาลงเพื่อให้สามารถวิ่งถึงเส้นชัยได้จนจบ แต่ถ้ามุ่งชัยชนะก็มีโอกาสเสี่ยง"


อาจารย์ณรงค์ เอ่ยว่าคนที่แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งนักกีฬาที่เรามองว่าแข็งแรง ก็มีโอกาสเกิดอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดอุดตันได้


10 สัปดาห์วิ่งสู่ชีวิตใหม่


เมื่อความพร้อมของนักวิ่งคืออีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญ ทาง สสส.จึงร่วมกับภาคี  จัดทำคู่มือ 10 สัปดาห์วิ่งสู่ชีวิตใหม่ขึ้นเพื่อให้ความรู้กับกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่ ได้แก่ กลุ่มผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย  กับกลุ่มที่เคยออกกำลังกายมาแล้วแต่อยากทดลองวิ่ง


ผศ.ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้อำนวยการศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้จัดทำคู่มือ 10 สัปดาห์วิ่งสู่ชีวิตใหม่ ร่วมกับ สสส. กล่าวถึงเหตุผลของการจัดทำคู่มือดังกล่าว ว่า เพราะการวิ่งแตกต่างจากการออกกำลังกายแบบอื่น เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ที่ต้องหายใจไปและวิ่งไปพร้อมกัน เราควรฝึกให้ร่างกายดึงพลังงาน จากกล้ามเนื้อและไขมันจากส่วนต่างๆ มาใช้ ดังนั้นหากเราไม่วอร์มร่างกาย สร้างกล้ามเนื้อให้พร้อม อาจเกิดอาการบาดเจ็บได้


'วิ่ง' กับ 'มาตรฐาน' ใหม่ที่ควรไปให้ถึง thaihealth


สำหรับกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการ จัดทำคู่มือดังกล่าว คือ แม้ที่ผ่านมาจะมี คู่มือการวิ่งอื่นๆ ออกมาบ้างแล้ว แต่ ผศ.ดร. สุชาติเอ่ยว่าคู่มือดังกล่าวอาจยังมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่อัพเดท


"เช่นที่เคยบอกว่าคนเราควรออกกำลังกายไม่น้อยกว่า 90 นาทีต่อสัปดาห์ มีงานวิจัยชี้ชัดว่าไม่เพียงพอ ต้องออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสุขภาพได้จริง"


โดยเนื้อหาในเล่มนี้ ยังเป็นการถอดบทเรียนและรวบรวมข้อมูลจาก "ครูดิน" สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งทีมชาติ  มารวมกับข้อมูลทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและข้อมูลด้านพลศึกษา เน้นการอ่านเข้าใจง่าย ไม่วิชาการมากเกินไป โดยจะเริ่มแนะนำตั้งแต่วินาทีแรกที่ทุกคนคิดจะวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมร่างกาย เคล็ดลับ หรือรูปแบบการวิ่งที่ถูกวิธี ไปจนถึงการทดสอบ สมรรถภาพการเสริมสร้างกล้ามเนื้อก่อนการวิ่ง


"การที่เราตั้งชื่อและจัดทำคู่มือตามแนวทางนี้ เพราะเราตั้งเป้าอยากให้เกิดความท้าทาย เร้าใจ ด้วยการตั้งเป้าหมายในการวิ่งให้ได้ 10 กิโลเมตรใน 10 สัปดาห์ ซึ่งเราต้องการบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อ แต่อยากให้ ลองลงมือปฏิบัติตามข้อมูลนี้ด้วยตัวเอง"


วิ่งอย่างไรให้มีความสุข


ความเห็นจาก นักวิ่งมือสมัครเล่น เจตนา เกรียงศักดิ์โอภาส เล่าว่า เริ่มวิ่งมากว่าสองปี และเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งจริงจังประมาณหนึ่งปีครึ่ง เคยทำสถิติวิ่งสูงสุดคือระยะ 25 กิโลเมตร แต่ตนเอง ไม่เคยคิดจะวิ่งฟูลมาราธอน เพราะไม่ใช่เป้าหมายการวิ่งของเธอ


"ช่วงแรกเคยมีคิดว่าอยากเอาชนะ ต่อมา เราเริ่มรู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกว่าติดกับตัวเอง ก็เลยมาย้อนคิดว่าเราลืมอะไรไปหรือเปล่า เราควรมีความสุขกับมัน"


เมื่อเปลี่ยน Mindset ตัวเองใหม่ เจตนา เล่าว่า รูปแบบการวิ่งวันนี้จึงเปลี่ยนไป ไม่มุ่งเน้นเรื่องชัยชนะหรือความสำเร็จเหมือนในอดีต แต่กลับมาให้ความสนใจเกี่ยวกับความพร้อมของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด "การนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ การวอร์มร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของนักวิ่ง เวลาวิ่งจะฟังเสียงร่างกายตัวเองเสมอ ถ้าวันไหนเราไม่พร้อมเราจะไม่ฝืน เพราะ ไม่อยากเสี่ยง"


เคล็ดลับของเธอคือการหมั่นฝึกซ้อมสม่ำเสมอและตามโอกาสเท่าที่คนทำงานในเมืองอย่างเธอจะทำได้


"การซ้อมวิ่งบ่อยๆ ช่วยให้ได้กำลังขา แต่อย่าซ้อมวิ่งอย่างเดียว ต้องเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังด้านอื่นด้วย ส่วนเวลาอยู่ในงานวิ่งระยะไกลเมื่อรู้สึกกระหายเราจะไม่ดื่มน้ำทันที แต่จะค่อยๆ อมๆ จิบๆ ทีละนิด เคยมีครั้งหนึ่งรู้สึกอ่อนเพลียเลยกิน Energy Gel ไปทันที ปรากฏว่าอาการกลับแย่ลงกว่าเดิมอีก"


เจตนาเล่าว่าสำหรับนักวิ่งอย่างเธอแล้วไม่ได้อยากได้อะไรจากคนจัดงานมากมาย แค่ทำได้ตามมาตรฐานที่ควรมี โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย มีน้ำบริบูรณ์ดี  มีเส้นทางวิ่งหรือป้ายบอกทางที่ชัดเจน  ก็พึงพอใจแล้ว

Shares:
QR Code :
QR Code