วิ่งสู่ชีวิตใหม่ประตูทางออกสำหรับคนรักตัวเอง
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
7 ปีเต็มๆ ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครื่องข่ายจัดงานวิ่งทั่วประเทศ ได้ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนงานวิ่งและกระตุ้นให้คนไทยหันมาออกกำลังกาย จนเกิดกระแสการวิ่งและนักวิ่งหน้าใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมสุขภาพต่างๆ ด้วยตระหนักดีว่า "โลกสดใส ก็เพราะหัวใจที่สุขสันต์"
จึงทำให้มีการยอมรับกันไปถ้วนหน้าว่า "ร่างกายที่แข็งแรงต้อง เคลื่อนไหว แต่จิตใจที่แข็งแกร่งต้องนิ่ง" ดังนั้น "องค์ความรู้" ทางจิตใจ และสุขภาพ กับเรื่องวิ่งจึงนับเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก ที่นักวิ่งจะต้องมีความรู้ เพื่อทำให้การวิ่งมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญไม่เกิดอาการบาดเจ็บ ล่าสุด จึงเกิดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "10 สัปดาห์ …วิ่ง…สู่ชีวิตใหม่" ณ อาคารศูนย์เรียนรู้ สุขภาวะ สสส. ขึ้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิต สุขภาวะ สสส. ให้ข้อมูล ว่า จากเดิมมี นักวิ่งประมาณ 5 ล้านคน จนปัจจุบันเพิ่มเป็น 15 ล้านคน และมีงานวิ่งเกิดขึ้นมากถึง 900 งานต่อปี จากเดิมเพียง 200 งานต่อปี เท่านั้น
"การวิ่ง" ถือเป็น "กิจกรรม ทางกาย" ที่หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้ร่างกายได้ออกแรง และไม่อยู่นิ่งนานๆ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) วัดการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย พบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในระดับ 73% ซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 3% เป็นการจุดประกายจากตัวเองสู่คนอื่นที่เห็นผลอย่างทันตา ดังปาฏิหาริย์ และ งาน "10 สัปดาห์…วิ่ง…สู่ชีวิตใหม่" จึงเป็นการยกระดับงานวิ่งของประเทศไทยให้ไปสู่ระดับโลกอย่างมีมาตรฐาน นั่นเอง
จากข้อมูลทางวิชาการ ระบุว่า การวิ่งให้มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่การก้มหน้า ก้มตาวิ่ง แต่นักวิ่งต้องมีการพัฒนาร่างกาย ทั้งความแข็งแรงของหัวใจ รวมถึงกล้ามเนื้อ ต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในงานวิ่งสู่ชีวิตใหม่ หรือ Thaihealth Day Run 2018 ในปีนี้จึงเกิด "คลินิกการวิ่ง" เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายของนักวิ่งหน้าใหม่สู่สนามวิ่ง ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ
ผศ.ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้อำนวยการศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ได้จัดทำ คู่มือเตรียมความพร้อม 10 สัปดาห์…วิ่ง… สู่ชีวิตใหม่ หรือ Passport Run สำหรับนักวิ่ง โดยมีองค์ความรู้ทั้งเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บ จากการออกกำลังกาย ข้อควรระวัง ประโยชน์ของการออกกำลังกาย การยืดเหยียด กล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง โภชนาการสำหรับนักวิ่ง วิธีคิดอัตราการเต้นของหัวใจ รวมไปถึงโปรแกรมแนะนำสำหรับคนเริ่มวิ่ง เพื่อให้นักวิ่งหน้าใหม่ลงสนามวิ่ง อย่างถูกหลัก ถูกวิธี เพื่อให้นักวิ่งปลอดภัยจากการออกกำลังกาย และสามารถวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และคณบดี คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังว่า ร่างกายเปลี่ยน DNA ต้องใช้ เวลากว่าหมื่นปี แต่ความทันสมัยของเทคโนโลยีที่เข้ามาในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ร่างกายของมนุษย์เปลี่ยนเร็วมาก ซึ่งก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีหลายโรค ที่เกิดขึ้นจากการไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย หรือไม่มีกิจกรรมทางกาย
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก อธิบายเพิ่มเติมให้ทราบว่า แม้ว่า DNA ที่ส่งต่อ ทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษมาถึงเราจะมีผลต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง แต่หากเราดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารตามหลักโภชนาการก็ทำให้เราห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้ อย่างเช่น "โรคอ้วนลงพุง" ที่คร่าชีวิตคนไทยถึง 3 แสนคน/ปี เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกายเท่านั้น เพื่อลดไขมันในช่องท้อง เมื่อลดพุงลงได้ก็เท่ากับว่าลดโรคไปถึง 6 โรค และไม่มียาวิเศษใดๆ เหมือนกับการออกกำลังกาย ที่สามารถป้องกัน รักษา และฟื้นฟูร่างกาย เราได้ เราเพียงแค่ให้กิจกรรมทางกายซึมลงในวิถีชีวิตประจำวันของเรา โดยทำที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้
สำหรับงานวิ่งสู่ชีวิตใหม่ (Thaihealth Day Run 2018) จะเปิดพื้นที่ต้อนรับนักวิ่งหน้าใหม่ และนักวิ่งทั่วไปได้ร่วมแสดงพลังกายที่แข็งแกร่งร่วมกัน โดยจะเปิดรับสมัครเร็วๆ นี้ สามารถติดตามรายละเอียดการสมัครวิ่งได้ที่ เฟซบุ๊ควิ่งสู่ชีวิตใหม่ (https://www.facebook.com/runfornewlife/) และ www.thaijogging.org