“วิ่งวิถีใหม่” วิ่งต่อไม่รอแล้วนะ
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักวิ่งจำนวนมากต้องหยุดอยู่กับบ้าน อย่างไรก็ตามตอนนี้มาตรการต่างๆ ได้ผ่อนปรนให้สามารถกลับมาจัดงานวิ่งได้อีกครั้ง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สสส. ร่วมองค์กรภาครัฐและภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันออกแบบคู่มือ “วิ่งที่บ้าน” เตรียมร่างกายก่อนกลับสู่สนาม สำหรับนักวิ่ง และ “คู่มือมาตรฐานการจัดงานวิ่ง” สำหรับผู้จัดกิจกรรม หวังให้เป็นแนวทางในการจัดวิ่งในรูปแบบ New Normal เพื่อลดความแออัดและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
“การที่ต้องชะงักอยู่บ้าน กิจกรรมทางกายลดลงนั้นไม่ใช่เรื่องดี การกลับมาจัดวิ่งจะเป็นผลดี ที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น นอกจากนี้การจัดงานก็จะสร้างผลดีในแง่เศรษฐกิจ” เป็นมุมมองของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ดร.สุปรีดา” ให้ข้อมูลว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้อัตราการออกกำลังร่างกายของคนไทย ลดลงไปถึงร้อยละ 15 และเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหรือ NCDs อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้นเมื่อภาครัฐผ่อนคลายมาตรการก็เป็นโอกาสดี ที่จะได้กลับมาวิ่งกันอีกครั้ง และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทาง สสส. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำคู่มือสำหรับนักวิ่งและผู้จัดกิจกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหากปฏิบัติตามคำแนะนำของคู่มือ การออกมาวิ่งตามงานต่างๆ จะปลอดภัยจากโควิด-19
ด้าน “รัฐ จิโรจน์วณิชชากร” ผู้บริหารสมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย อธิบายถึงการวิ่งในรูปแบบ New Normal ว่า การจัดงานต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักวิ่งเป็นหลัก ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 โดย
1. ต้องลดจำนวนนักวิ่งจากเดิมลงครึ่งหนึ่ง เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม
2. การปล่อยตัวนักวิ่งจะทำเป็นรอบๆ เพื่อป้องกันความแออัดของนักวิ่งในช่วงปล่อยตัว
3. จุดบริการน้ำและอาหารจัดเป็นชุด เพื่อลดการสัมผัสระหว่างกัน
4. รับเหรียญและของที่ระลึก จัดใส่ถุงไว้เป็นชุดๆ เมื่อกลับเข้าถึงเส้นชัย เพื่อสุขอนามัยที่ดีของนักวิ่ง
ขณะที่ “ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ” ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. เล่าว่า การออกแบบงานวิ่งยุค New Normal ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งมี 2 ส่วนสำคัญ คือยึดกฎกติกามาตรฐานสากล และสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ มาตรการป้องกันโควิด-19
ดร.ณรงค์ อธิบายว่า สำหรับคู่มือมาตรฐานการจัดงานวิ่งในรูปแบบ “เดอะ เน็กซ์ นอร์มอล ออฟ โร้ด แอนด์ เทรล เรซ” มีจำนวน 16 ข้อ ประกอบด้วย
1. จำนวนผู้เข้าร่วมต้องสอดคล้องกับขนาดของพื้นที่ โดยลดจำนวนของนักกีฬาและกรรมการ
2. ควรให้สิทธิ์การยกเลิก สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ โดยอาจกำหนดให้มีขั้นตอนการคืนเงิน หรือการโอนสิทธิ์ให้ผู้อื่นได้ กระบวนการนี้จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้สมัคร
3. ควรจัดให้มีการทำประกันโควิด-19 ให้กรรมการ อาสาสมัคร และนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน นอกเหนือไปจากการทำประกันอุบัติเหตุที่ทำอยู่แล้ว
4. ควรรับรองตนเองไม่ให้ไปในพื้นที่เสี่ยง ก่อนการแข่งขัน 14 วัน ทั้งนี้อาจใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เช็คอินเพื่อแสดงประวัติเส้นทางการเดินทาง
5. ควรมีใบรับรองแพทย์ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง โดยควรจะดำเนินการตรวจร่างกายหาโควิด-19 และส่งผลการตรวจก่อนการแข่งขัน ในกรณีที่มีผู้สมัครจากต่างประเทศ การดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของทางราชการ ในช่วงเวลานั้นๆ
6. ควรลดกิจกรรมรวมตัว ก่อนหรือหลังการแข่งขัน กิจกรรมใดๆ ที่เคยให้คนมารวมตัว ควรมีให้น้อยลงและกระจายการเข้าร่วมกิจกรรม ใช้ระบบออนไลน์ทดแทน
7. ต้องเช็คอิน-เช็คเอาท์ “ไทยชนะ” ทั้งนักวิ่งและผู้เข้าร่วมกิจกรรม
8. ต้องมีสถานีคัดกรอง เพื่อวัดอุณหภูมิร่างกาย ของผู้เข้ามาในบริเวณการแข่งขัน และควรมีจุดบริการเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือไว้บริการ
9. ต้องยืน – นั่งห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร ในทุกกิจกรรม เช่น การยืนรอคิวเข้าห้องน้ำ ปล่อยตัว รับเหรียญ ฯลฯ รวมถึงระยะห่างกันของกรรมการขณะปฏิบัติงาน
10. หน้ากากต้องเป็นอุปกรณ์บังคับ ทั้งกรรมการและนักกีฬา โดยขณะทำการวิ่งไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่เป็นข้อบังคับให้ใช้ในช่วงก่อน และหลังการแข่งขัน เช่น ในจุดบริการอาหาร และเครื่องดื่ม หรือตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสถานที่ที่ปิด เช่น ในเต็นท์พยาบาล รถขนส่ง
11. ควรปรับการปล่อยตัวให้เป็นกลุ่มย่อย โดยเน้นไม่ให้นักกีฬามาคอยการปล่อยตัวหน้าจุดเริ่มต้น ดังเช่นในอดีต อย่างไรก็ตามพึงระลึกว่าการปล่อยตัวลักษณะนี้อาจใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง จากเดิมที่อาจใช้เวลาเพียง 5-10 นาที
12. ระวังความแออัด ในสถานีบริการน้ำและอาหาร โดยอาจให้นักกีฬาพกเครื่องดื่มมาเอง และกระจายจุดบริการให้สอดคล้องกับจำนวนนักวิ่ง
13. ควรกำหนดระเบียบและกฎกติกาการแข่งขัน ให้ทราบอย่างชัดเจน เพราะแนวปฏิบัติเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่
14. จุดเริ่มต้นมีความกว้างสอดคล้องกับจำนวนคน เส้นทางการแข่งขันควรเป็นทางตรงไม่น้อยกว่า 400 เมตรจากจุดสตาร์ท หลีกเลี่ยงทางโค้งเพื่อลดการไปแออัดกันของนักวิ่งที่โค้งด้านใน และกิโลเมตรแรกๆ ถนนควรมีความกว้างพอที่จะให้นักวิ่งในกลุ่มนั้นๆ มีระยะห่างซึ่งกันและกันที่ปลอดภัย
15. ต้องทำความสะอาดสถานที่ก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขัน รวมถึงกำจัดขยะมูลฝอย
16. ควรมีทะเบียนรายชื่อทั้งนักกีฬาและกรรมการ รวมถึงกระบวนการติดตามผลผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งกรรมการ และนักกีฬา ภายหลังการแข่งขันและอาจกำหนดให้เป็นการตอบแบบสอบถามกลับมาภายใน 7 วัน เพื่อเป็นการติดตามอาการป่วย (ที่อาจมี) ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ส่วนการป้องกันโควิด-19 วิ่งอย่างปลอดภัยสำหรับนักวิ่ง ประกอบด้วย
1. สวมหน้ากากอนามัย ยกเว้นขณะวิ่ง
2. ห้ามถ่มน้ำลาย
3. ล้างมือให้บ่อย
4. ระมัดระวังการพูดคุยเสียงดังหรือไอจาม ที่ทำให้เกิดฝอยละออง
5. หลีกเลี่ยงการวิ่งแซงในพื้นที่แคบ หรือแซงเบียดเพื่อรับน้ำ
6. รักษาระยะห่าง
“การวิ่ง” ในยุคโควิด-19 จำเป็นต้องมีการวางแผนป้องกันอย่างรัดกุม ทั้งตัวนักวิ่งและผู้จัดงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้รับความปลอดภัย สสส. ขอชวนคนไทยมาเริ่มวิ่ง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ในรูปแบบวิถีใหม่ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด คู่มือจัดการแข่งขันวิ่งบนถนน และมาตรการจัดการแข่งขันภายใต้การแพร่ระบาด COVID-19 ได้ที่ www.thaihealth.or.th สล็อตออนไลน์