วิสาหกิจชุมชน กับการปกครองเข้มแข็งที่ “บ่อหิน”
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน หรือ อบต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง มีการดำเนินงานที่น่าสนใจและกลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นต้องเข้ามาศึกษาความสำเร็จเพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชนของตนเอง
โดยสภาพพื้นที่ของตำบล แม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ป่าไม้และภูเขา ที่อุดมสมบูรณ์ แต่กลุ่มหลังคาเรือนในแต่ละหมู่บ้าน ก็มีความไกลห่างกัน บ้างถูกกั้นด้วยคลอง บ้างถูกกั้นด้วยแนวเขา ตำบลบ่อหินจึงได้พัฒนาระบบการปกครองชุมชนแบบ “แบ่งเขต”ในแต่ละหมู่บ้านขึ้นมา และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างได้ผล
ตามข้อมูลพื้นฐานระบุว่า ตำบลบ่อหิน มีประชากร 6,725 คน จำนวนครัวเรือน 1,974 ครัวเรือน นับถือศาสนาพุทธประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และศาสนาอิสลาม 30 เปอร์เซ็นต์ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและชาวบ้าน ได้มีการวางระบบให้กับชุมชน 6 ระบบ เพื่อให้การพัฒนามีรูปแบบและเป็นไปในทางเดียวกัน ได้แก่ 1.ระบบบริหารจัดการท้องถิ่น 2.ระบบอาสาเพื่อชุมชน 3.ระบบการเรียนรู้ การศึกษาและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น 4.ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.ระบบเศรษฐกิจชุมชน และ 6.ระบบสวัสดิการชุมชน
ธรรมฤทธิ์ เขาบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน (อบต.บ่อหิน) กล่าวถึง การดำเนินงานว่า ที่ผ่านมา อบต.เน้นการจัดการทรัพยากรเชิงอนุรักษ์ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหลายกลุ่ม และมีรูปแบบการปกครองแบบแบ่งเขตในหมู่บ้าน ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบของหลายๆ แหล่ง
“ระบบบริหารจัดการท้องถิ่นในตำบลบ่อหิน หมู่ที่ 4 บ้านไสต้นวา ได้กลายเป็นต้นแบบการปกครองแบบแบ่งเขต มีสภาองค์กรชุมชน ทำงานควบคู่ไปกับสภา อบต.บ่อหิน โดยหมู่ที่ 4 นี้ ได้แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 เขต ตามจำนวนประชากร ตามเส้นทางการคมนาคม ตามสภาพภูมิศาสตร์ คูคลอง เทือกเขา ให้ชาวบ้านเลือกเองว่าอยากจะอยู่เขตไหน เพราะบางบ้านก็ไม่สะดวกที่จะข้ามเขาไปอยู่อีกเขต ก็สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่กับอีกเขตหนึ่งในละแวกใกล้กัน แต่ละเขตก็จะมีประมาณ 20-30 ครอบครัว ก็ตกลงกันเอง แล้วมีการเลือกหัวหน้าเขต กรรมการบริหารเขต แล้วแต่ชาวบ้านจะตั้งกติกาขึ้นมากันเอง เพื่อมาทำงานวาระ 2 ปี ทำงานเหมือนเป็นรัฐบาลในหมู่บ้าน การเลือกหัวหน้าเขตนี้ แต่ละเขตก็จะดำเนินการไม่เหมือนกัน บางเขตก็มีการเลือกตั้งเพราะมีผู้สมัครมากกว่า 1 คน บางเขตก็ไม่มีผู้สมัคร ก็จำเป็นต้องให้คนในเขตทั้งหมดช่วยกันสรรหาตัวแทนขึ้นมาเป็นหัวหน้าเขต โดยให้เป็นที่ยอมรับด้วย ซึ่งหัวหน้าเขตทั้ง 7 คนจะเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง สะท้อนปัญหาในแต่ละเขตได้ชัดเจน เมื่อถึงเวลาประชุมก็เอาปัญหา เอาข้อเสนอมาคุยกับผู้ใหญ่บ้าน จากเดิมในอดีตที่ผู้ใหญ่บ้านกับกำนันอาจเข้าไม่ถึงปัญหา ระบบแบ่งเขตนี้ก็จะทำให้ผู้ใหญ่บ้านกับกำนันได้รับทราบปัญหาที่แท้จริง”
นายธรรมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า การให้อำนาจหัวหน้าเขตปกครองเทียบเท่ากับผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง มีสิทธิ และได้ใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่โดยเฉพาะกระบวนการทางสังคม การเลือกตั้งหัวหน้าเขต และคณะกรรมการ เพราะแต่ละเขตนอกจากจะมีหัวหน้าแล้ว ยังมีรองประธาน เหรัญญิก เลขานุการ และมีกรรมการเขต ซึ่งนอกจากหัวหน้าเขตทั้ง 7 คน แล้วยังมีการเลือกคณะทำงานขึ้นมาดูแลชุมชน 8 คน 8 ด้านอีกด้วย
“เดิมมีเพียง 6 ด้าน ต่อมาเราเล็งเห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับกีฬาและการพัฒนาสตรี เลยเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ด้าน ซึ่งทั้ง 8 ด้านนี้ ประกอบด้วย 1.ด้านอำนวยการ 2.ปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย 3.แผนพัฒนาหมู่บ้าน 4.ส่งเสริมเศรษฐกิจ 5.สังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข 6.การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 7.เยาวชน กีฬาและสันทนาการ 8.การพัฒนาและส่งเสริมสตรี ผมมองว่าการดำเนินการในมิติที่เอื้ออาทรทำให้สังคมมีความสุข ให้คนที่ด้อยโอกาสเข้าถึงโอกาสมากขึ้นด้วยสวัสดิการชุมชน” นายธรรมฤทธิ์ กล่าว
นอกจากระบบการแบ่งเขตหมู่บ้านแล้ว ที่ตำบลบ่อหินยังมีวิสาหกิจชุมชนที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ “บ่อหินฟาร์มสเตย์” ซึ่งเป็นโฮมสเตย์แบบบูรณาการ เป็นทั้งที่พักที่ใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่สร้างประโยชน์ทั้งต่อชาวบ้านและผู้มาเยือน ทำให้ที่นี่กลายเป็นโฮมสเตย์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรัง ที่มีผู้มาพักไม่เคยขาด
บรรจง นฤพรเมธา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลาในกระชังบ้านพรุจูด และประธานบ่อหินฟาร์มสเตย์เล่าว่า บ่อหินฟาร์มสเตย์เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ วิถีประมงชายฝั่ง และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยแม้ว่าชื่อจะเป็นฟาร์มสเตย์แต่โดยรูปแบบก็คือโฮมสเตย์ และยังได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยเมื่อปี 2552 อีกด้วย
“กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงปลาในกระชังบ้านพรุจูด มีอาชีพหลักคือทำการประมงเพาะเลี้ยงปลาเก๋า ปลากะพงขาว บ่อหินฟาร์มสเตย์ก็จะเป็นกิจกรรมหนึ่งของกลุ่ม โดยเป็นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวชุมชน ที่อาศัยฐานทรัพยากรในชุมชนคือ ป่าชายเลน แนวหญ้าทะเล และปะการังน้ำตื้น คือนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้มาท่องเที่ยวพักผ่อน ชมธรรมชาติ ตกปลาและรับประทานอาหารทะเลสดๆ แล้ว เรายังมีโครงการธนาคารต้นกล้าหญ้าทะเล ที่จะให้ผู้ที่มาพักโฮมสเตย์ได้ทำกิจกรรมเก็บเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเลมาฝากไว้กับธนาคารต้นกล้าหญ้าทะเล ซึ่งเราจะทำการเพาะพันธุ์และนำไปปลูกเพิ่มเติม นอกจากนี้ บ่อหินฟาร์มสเตย์ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในหลายๆ ด้าน เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง นิเวศน์ป่าชายเลน การทำประมงพื้นบ้าน การปลูกป่าโกงกาง “
บรรจง ยังกล่าวอีกว่า บ่อหินฟาร์มสเตย์มีการจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ โดยเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังหลังปี 2548 เป็นต้นมา โดยที่สมาชิกในกลุ่มและชาวบ้านในตำบลบ่อหิน มีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างมาก เพราะผู้ที่มาพัก จะมาศึกษาแหล่งเรียนรู้ในตำบล และซื้อสินค้าที่ผลิตในตำบล ทำให้ชาวบ้านมีงาน มีรายได้ การดำเนินงานก็ก้าวหน้าและมีชื่อเสียงมาตามลำดับ จนกระทั่งได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยในปี 2552 และมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาพักเดือนละหลายกลุ่มตลอดทั้งปี โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าพักกว่าพันคน
ผลจากระบบเศรษฐกิจชุมชนที่บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ตำบลบ่อหินมีระบบสวัสดิการชุมชนที่ได้ช่วยดูแลคนในท้องถิ่นและกำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการบริหารจัดการของ ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา นับเป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็ง ที่ดูแลกันเอง พึ่งพาตนเอง ทั้งยังสร้างงาน สร้างรายได้ ตลอดจนจัดการด้านการเงิน ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนเติบโตแบบครบวงจร และวันนี้บ่อหินก้าวมาอีกขั้นด้วยการเป็นตำบลสุขภาวะ โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และจะเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้แก่ตำบลอื่นในอีกไม่ช้า
นี่จึงเป็นการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ชุมชนอื่นๆสามารถนำไปปฏิบัติให้เห็นผลได้จริง
ที่มา : ปันสุข