วิธีสยบเจ้าตัวเล็กที่ชอบตี
ที่มา : http://talkaboutsex.thaihealth.or.th
คนเราทุกคนเกิดมาต้องเคยโกรธ หรือทะเลาะกับคนอื่น สำหรับเด็กๆ แล้วการระงับความโกรธเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ด้วยความที่เป็นเด็กจึงทำให้ยากต่อการระบายความโกรธออกมาเป็นคำพูด สิ่งที่ระบายความโกรธได้ง่ายและเร็วทันใจ คือการทำร้ายด้านร่างกาย แม้ว่าจะเป็นเด็กโตก็ตาม
โดยการทำร้ายด้านร่างกาย หรือการตีกันนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ เด็กจะตีคนอื่นหากเขาเคยเห็นการกระทำเหล่านี้มาก่อน หรือเห็นว่าสิ่งนั้นสามารถหยุดหรือควบคุมการกระทำที่พวกเขาไม่ชอบได้ เด็กอาจเลียนแบบจากทีวี หรือภาพยนตร์ที่ดู
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลและควบคุมรายการทีวีที่ลูกชอบดูทุกรายการ โดยให้ลูกหลีกเลี่ยงการดูหนังหรือรายการที่มีเนื้อหาชิงรักหักสวาท รุนแรง ผู้ชายตบหรือทำร้ายผู้หญิง การด่าทอโดยใช้คำพูดที่รุนแรง เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้นลูกอาจเห็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม จากการทะเลาะกันภายในบ้าน ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และคิดว่าการตีหรือการทำร้ายกันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ การตีเด็กที่เล็กๆ ถือเป็นการสร้างความสับสนและทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปฝังที่ก้านสมองของลูก และจะกลายเป็นความทรงจำที่ถาวร
วันนี้ผู้เขียนขอเสนอวิธีบางอย่างที่จะช่วยหยุดความรุนแรงในบ้านดังนี้
1. หยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อเด็กๆ เริ่มตี ให้แยกตัวเด็กออกจากสถานการณ์นั้นทันที ให้เวลาเด็กๆที่จะคิดทบทวนต่อการกระทำของเขา เช่น หากเด็กเล่นอยู่ที่สนามกับเพื่อน ให้แยกเด็กไปอีกที่หนึ่งเพื่อที่จะสงบลง หากเป็นเด็กในวัยคลานอาจใช้วิธีอุ้มออกไปทันที คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้เด็กฟังว่าการตีกันถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จัดเวลาให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ เวลาที่เหมาสมคือ 1 นาทีต่ออายุแต่ละปี เช่น เด็ก 2ขวบจะรอได้ 2นาที และ 3จะใช้เวลาในการรอคอยได้ 3นาทีเป็นต้น
หากเป็นเด็กโตทะเลาะตีกัน ให้เข้าไปทันทีและแยกเด็กออกจากกัน ให้โอกาสเด็กแต่ละคนพูดโดยที่อีกฝ่ายฟังอย่างสงบ และฟังอีกฝ่ายพูดบ้าง สร้างทัศนคติทางบวกต่อเด็กที่ก้าวร้าวว่าเราสามารถจะใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างอื่นโดยไม่ใช้ความรุนแรง เช่น พูดจากันดีๆหรือเมื่อขัดใจกันและไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ควรปรึกษาให้ผู้ใหญ่ช่วยแก้ปัญหาให้
2. ให้รางวัลต่อพฤติกรรมที่เหมาะสม การชมหรือเสริมแรงถือว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลวิธีหนึ่ง เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่รุนแรง ให้ชมหรือเสริมแรงลูกทันที ให้ลูกรู้ว่าเราภูมิใจที่ลูกแก้ปัญหานั้นได้อย่างฉลาด อาจทำเป็นตารางความประพฤติที่เหมาะสมติดไว้ให้เห็นชัดเจน
3. ให้เด็กๆ มีทางเลือกใหม่ มีทางเลือกมากมายที่สามารถทำได้ดีกว่าการทำร้ายร่างกาย อาจใช้วิธีการพูดระบายความรู้สึก หรือเดินออกจากสถานการณ์นั้นเมื่อโกรธ หากไม่ได้ผลบอกลูกว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่ทำได้ หากได้รับการสอนที่ถูกต้องเด็กเล็กๆก็สามารถเรื่องรู้การใช้คำพูดแทนการตอบโต้ความรุนแรง คุณพ่อคุณแม่อาจเล่นบทบาทสมมติต่อพฤติกรรมที่ควรกระทำเหล่านี้เป็นประจำเพื่อให้เด็กเห็นตัวอย่างที่ดีและทำตาม
4. อย่าเปรียบเทียบลูก การเปรียบเทียบลูกๆกับพี่น้องคนอื่นหรือลูกของคนอื่น ทำให้ลูกเกิดความน้อยใจ และสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ เมื่อถึงเวลาจะระเบิดขึ้นโดยการใช้ความรุนแรง ลูกแต่ละคนเป็นคนพิเศษไม่เหมือนใคร และความพิเศษนี้ทำให้เราเห็นความแตกต่างกันของแต่ละคน เรียนรู้ในการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เมื่อมีความแตกต่างเกิดขึ้น
5. สงบ เด็กๆ เรียนรู้โดยการเลียนแบบ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลเด็กสงบ สุขุม เด็กก็จะเลียนแบบและทำตามได้ง่ายกว่า เด็กที่เคยเห็นการตอบโต้ความรุนแรงโดยใช้ความรุนแรง ในทำนองเดียวกันเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้สึกโกรธ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ให้ใช้วิธีออกจากสถานการณ์นั้นและสงบด้วย เช่นเดียวกัน
6. ขอความช่วยเหลือ หากรู้สึกว่าลูกดูเหมือนว่าจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงมากขึ้นคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะลูกอาจมีปมปัญหาหรือสิ่งที่ปิดบังไว้ที่ไม่กล้าบอกใคร เช่น ความกลัว ความกดดัน ความวิตกกังวล เป็นต้น
สุภาษิตที่ว่า ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก นั้น ไม่ใช่เรื่องเชยเกินไปสำหรับการสอนลูกในยุคปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข เติมเต็มถังอารมณ์ของลูกให้เต็มอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้ว่า เขาเป็นคนพิเศษ อิ่มใจ โดยที่ไม่ต้องไปหาความพิเศษจากที่อื่น