วิธีปฏิบัติหาก "ง่วง" ขณะขับรถ
ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
แฟ้มภาพ
การขับรถในขณะง่วง อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้ขับผู้โดยสารถึงแก่ชีวิตได้ การหลับในเป็นการวูบหลับไปช่วงสั้น ๆ ส่งผลให้หมดสติไปชั่วขณะ แต่ก็นานพอที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ในขณะขับขี่
สัญญาณเตือน “อาการง่วง” ในขณะขับรถ
1. หาวบ่อยและหาวต่อเนื่อง
2. ใจลอยไม่มีสมาธิ
3. รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย
4. จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาเมื่อสองสามกิโลเมตรที่ผ่านมา
5. รู้สึกหนักหนังตา ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพไม่ชัด
6. รู้สึกมึน หนักศีรษะ
7. ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง
8. มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร
ข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยง “การง่วงในขณะขับรถ”
ก่อนเดินทางควรเตรียมตัวดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนในเวลากลางคืนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง
- หาเพื่อนร่วมทางเพื่อพูดคุยและผลัดเปลี่ยนกันขับรถ
- วางแผนการหยุดพักการขับรถทุก ๆ ระยะทาง 150 กิโลเมตร หรือทุก 2 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม
- ควรงีบหลับก่อนขับรถถ้ารู้สึกอ่อนล้า
- ถ้ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนหลับในตอนกลางวันบ่อย ๆ หรือนอนหลับยากในเวลากลางคืน ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์
ขณะขับขี่รถ เมื่อมีอาการของสัญญาณเตือนของการง่วง ควรจะ…
- อย่าฝืนขับรถ
- จอดรถในที่ปลอดภัย เพื่องีบหลับประมาณ 15 นาที ก่อนขับต่อ
- สลับให้ผู้อื่นขับแทน
- รับประทานของขบเคี้ยว หรือดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
- เปิดหน้าต่างรถเพื่อถ่ายเทอากาศ ให้ลมโชยปะทะหน้า
- เปิดเพลงดัง ๆ และร้องตามไปด้วย
- ใช้อุปกรณ์/เครื่องมือส่งสัญญาณปลุก กรณีมีอาการสัปหงก
การป้องกันสามารถทำได้ง่าย ๆ ที่สำคัญคือ การฝึกให้มีนิสัยการนอนหลับให้เหมาะสมและเพียงพอ มีการวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง และควรจำไว้เสมอว่า “ง่วงไม่ขับ จะได้กลับอย่างปลอดภัย”