วิธีบริหารกล้ามเนื้อของ "คนใส่เฝือก"

นักกายภาพชี้ใส่เฝือกเสี่ยงข้อติด ศึกษาบริหารกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริกที่ข้อเท้าในผู้ป่วยใส่เฝือก "เกร็งกล้ามเนื้อ ออกแรงต้าน กระดกเท้าขึ้นลง" วันละ 3 เซ็ต จนกว่าจะถอดเฝือก ช่วยมุมเคลื่อนไหวข้อเท้าดีขึ้น ไม่มีอาการข้อติด


แนะวิธีบริหารกล้ามเนื้อ


แฟ้มภาพ


น.ส.สงวน นาคาแก้ว นักกายภาพบำบัดปฏิบัติการ โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม นำเสนอผลงาน "ประสิทธิผลของการบริหารกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริก (Isometric) ของข้อเท้าในผู้ป่วยที่ใส่เฝือกแข็งเพื่อป้องกันข้อติด" ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2558 ว่า การใส่เฝือกหรือการจำกัดการเคลื่อนไหวนานเกิน 1 สัปดาห์ มีผลทำให้มุมการเคลื่อนไหวของข้อค่อยๆ ลดลง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อติด ซึ่งการรักษาจะต้องเข้ารับการดัดข้อต่อ โดยผู้ป่วยจะเกิดความเจ็บปวดจากการดัดข้อ โดยบางรายใช้เวลาในการดัดนาน 2-3 เดือน ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการเดินทางมารักษา และในบางรายพบว่าข้อติดแข็งไม่สามารถดัดให้กลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้กลายเป็นคนพิการ กระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย งานกายภาพบำบัด รพ.พยัคฆภูมิพิสัย จึงทำการศึกษาประสิทธิผลของการบริหารกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริกของข้อเท้าในผู้ป่วยที่ใส่เฝือกแข็ง หรือการบริหารกล้ามเนื้อโดยการออกแรงเกร็งกล้ามเนื้อหรือออกแรงต้าน ซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหว แต่จะมีการหกตัวของกล้ามเนื้อ โดยส่วนอื่นๆ มีการเคลื่อนไหวน้อย เช่น การกระดกข้อเท้าขึ้นลงไปมา ว่าสามารถป้องกันอาการข้อติดได้หรือไม่


น.ส.สงวน กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 2557 – ก.พ. 2558 ในผู้ป่วยที่ใส่เฝือกแข็งที่ขา ที่แพทย์ส่งปรึกษานักกายภาพบำบัดจำนวน 15 ราย โดยให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริกของข้อเท้าในเฝือกทุกวันจนกว่าจะถอดเฝือก คือ ออกแรงเกร็งกระดกข้อเท้าขึ้นเต็มกำลัง นับ 1-5 พัก 2-3 วินาที ทำให้ครบ 10 ครั้ง ถือเป็น 1 เซ็ต และออกแรงเกร็งกระดกข้อเท้าลงเต็มกำลังนับ 1-5 พัก 2-3 วินาที ทำให้ครบ 10 ครั้ง นับเป็น 1 เซ็ต ทำทั้ง 2 ท่าให้ครบทั้ง 3 เซ็ตต่อวัน โดยหลังถอดเฝือกวัดมุมการเคลื่อนไหวของข้อเท้าในท่ากระดกขึ้นลง โดยใช้โกนิโอมิเตอร์วัดเทียบกับข้างปกติผลการศึกษาพบว่า มุมการเคลื่อนไหวของข้อเท้าหลังถอดเฝือกนั้นทุกคนมีมุมการเคลื่อนไหวปกติ


"ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยใส่เฝือกส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญของการสอนให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อขณะใส่เฝือก ส่งผลให้เกิดภาวะข้อติด แต่จากการวิเคราะห์การบริหารกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริก จะมีการหดตัวของกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อหดตัว เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นยึดกระดูก และเนื้อเยื่ออ่อนอื่นๆ ที่เกาะเกี่ยวกันอยู่จะถูกยืดและหดตัวสั้น เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัว ซึ่งจากการทดลองให้การบริหารกล้ามเนื้อแบบไอโซเมตริกของข้อเท้าพบว่า สามารถป้องกันข้อเท้าติดได้ จึงเสนอว่าควรมีการเผยแพร่ผลงานนี้ให้โรงพยาบาลอื่น นำไปใช้ป้องกันข้อเท้าติดหลังถอดเฝือก" น.ส.สงวน กล่าว


 


 


ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์


 

Shares:
QR Code :
QR Code