วิธีกำจัดเชื้อราหลังน้ำท่วม

ที่มา : หมอชาวบ้าน


วิธีกำจัดเชื้อราหลังน้ำท่วม thaihealth


แฟ้มภาพ


อันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ที่มาในช่วงน้ำท่วมที่เห็นเด่นชัดที่เกิดขึ้นคือ เชื้อราที่เกิดตามผนังอาคารบ้านเรือน


เชื้อราจัดเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตอาหารเองได้ แต่ได้รับอาหารจากการสร้างเอนไซม์ย่อยสลายวัสดุอาศัยแล้วดูดซึมเข้าสู่เซลล์ เซลล์ของเชื้อรามักรวมกันเป็นเส้นใย โครงสร้างเส้นใยของเชื้อราไม่ซับซ้อน ไม่มีระบบท่อลำเลียงน้ำ ทำให้เชื้อราต้องอาศัยความอับชื้นจากสิ่งแวดล้อมในการเจริญเติบโต


ดังนั้น สภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราคือสภาวะที่อากาศไม่ระบายและมีความชื้นสูง เชื้อราส่วนใหญ่แพร่กระจายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สปอร์จะลอยผ่านอากาศ และเมื่อสปอร์ตกลงบนพื้นผิวที่เปียกหรือมีความชื้น เชื้อราจะเริ่มเจริญเติบโต ดังเช่นในสภาวะน้ำท่วมขังภายในอาคารบ้านเรือนที่ปิดมิดชิด เป็นอีกสภาวะหนึ่งที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณของเชื้อรา


ความเสียหายและอันตรายจากเชื้อรา


  1. วัสดุที่เชื้อราอาศัยเจริญอยู่จะเสื่อมสภาพจากการที่ถูกเชื้อราย่อยไปเป็นอาหาร
  2. เส้นใยของเชื้อราที่เจริญอยู่ที่ผิววัสดุต่างๆ เมื่อรวมกันเป็นจำนวนมากจะปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่า หรือทำให้เกิดสีที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นบนวัสดุนั้นๆ
  3. ชิ้นส่วนหรือสปอร์ที่เชื้อราสร้างขึ้นเพื่อแพร่กระจายพันธุ์เมื่อฟุ้งกระจายไปในอากาศอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหลและอาจเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้หากร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไต ทำให้เกิดอันตรายรุนแรง เชื้อราสามารถกระตุ้นอาการหอบในคนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว


นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และแพ้เป็นผื่นลมพิษได้


วิธีควบคุมและกำจัดเชื้อราหลังน้ำท่วม


1. ควรจะมีการสำรวจดูว่าบริเวณใดมีเชื้อราเกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีน้ำท่วมขังนานกว่า ๒ วันขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดเชื้อราขึ้นได้แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บริเวณที่มักมีเชื้อราซ่อนอยู่ ได้แก่ ใต้พื้น บริเวณฝ้าเพดาน ท่อน้ำที่รั่วซึม หรือใต้วอลเปเปอร์โดยเฉพาะวัสดุบุผนังที่เป็นพลาสติกชนิดพิเศษที่เรียกว่าไวนิล จะแห้งแต่ภายนอกเท่านั้น แต่จะเก็บกักความชื้นไว้ข้างใต้ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี  


การสำรวจดูเชื้อราอาจทำได้ 2 ทาง คือ ดูด้วยตา จะเห็นได้จากรอยเปื้อน หรือมีเส้นใยขึ้น และวิธีการดมกลิ่น กลิ่นเชื้อราจะเหม็นอับทึบ หรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน หากสงสัยให้ปฏิบัติดังนี้ สิ่งใดที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมดจดให้ทิ้งไป ถ้าเป็นสิ่งของที่ทำด้วยผ้า หากต้มได้ต้องฆ่าเชื้อด้วยการต้มน้ำร้อนก่อนจึงนำมาใช้อีก


2. รีบทำความสะอาดพื้นและผนังโดยการขัดล้างให้เร็วที่สุด ก่อนลงมือทำความสะอาดควรแต่งกายให้มิดชิด สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้าบู๊ต สวมถุงมือยาง สวมหน้ากากอนามัย ใส่แว่นตา เพื่อป้องกันเชื้อและของเหลวมาสัมผัสบริเวณร่างกาย ระหว่างทำความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยให้แห้งโดยเร็ว หลักการและวิธีทำความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อรา


  • ควรแยกพื้นที่ที่จะทำความสะอาดให้อยู่ในวงจำกัดในมุมหนึ่งของบ้านและควรทำนอกอาคารถ้าเป็นไปได้
  • ในกรณีที่วัสดุนั้นๆ ยากแก่การทำความสะอาดหรือมีรูพรุนมาก มีเชื้อรามาก ให้คัดแยกวัสดุนั้นทิ้งไป และในการทิ้งต้องห่อด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสปอร์เชื้อรา
  • เริ่มแรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา


 

Shares:
QR Code :
QR Code