‘วิถีไทยพวน’ โมเดลชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย
แนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยานจากภาครัฐมิติที่เห็นชัดคือการสร้างทางจักรยานทั่วประเทศ เพื่อให้คนหันมาใช้จักรยานเพื่อการสัญจรและหวังผลเรื่องสุขภาพที่แข็งแรง และช่วยกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอีกทาง
สร้างชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเป็นอีกมิติแนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน โดยมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้เพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นดำเนินการ 4 แนวทาง คือ 1.การสร้างการรับรู้ให้คนในชุมชนสนใจปรับพฤติกรรมมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยทำได้หลายวิธี คือการพูดคุยทำความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น 2.การปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพในชุมชนให้สามารถใช้จักรยานร่วมกับรถประเภทอื่น ๆ อย่างปลอดภัย เช่น การปรับสภาพไหล่ทาง การทำป้ายเตือน เป็นต้น 3.การสร้างภาคีในพื้นที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการสร้างชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเพื่อความยั่งยืน เช่น การตั้งคณะทำงานการประชุมวางแผนติดตาม และ 4.การเชื่อมโยงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกับบริบทหรือแนวทางการพัฒนาของพื้นที่
ล่าสุด เกิดชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่องเป็น ปีที่ 3 มีชุมชนปฏิบัติการมากกว่า 200 ชุมชนทั่วประเทศ ทั้งนี้การสร้างชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะสามารถหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่ได้หลายมิติรวมถึงมิติการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน 4 วิถีชุมชนไทยพวนเทศบาล ต.เกาะหวาย อ.ปากพลี จ.นครนายก เป็นตัวอย่างของโครงการท่องเที่ยวโดยจักรยานที่ประสบความสำเร็จ มีคนในชุมชนใช้จักรยานเพิ่มขึ้น 100-150 คนต่อวันจากเดิมมีคนใช้ไม่กี่คนหลังจากดำเนินงานมา 3 ปี นอกจากนี้มีนักปั่นจากกรุงเทพฯ นิยมเดินทางมาปั่นเที่ยวชุมชนในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยชุมชนได้จัดการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมไทยพวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนฝั่งคลอง ชุมชนท่าแดง ชุมชนบ้านใหม่และชุมชนเกาะหวาย ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างเดินทางในชุมชนและเชื่อมชุมชนของนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจของชุมชนดังกล่าวเมื่อเริ่มต้นจากจักรยาน 4 วิถีชุมชนไทยพวน โดยขบวนจักรยานเริ่มออกเดินทางจากวัดปทุมวงษาวาสในเขตตำบลเกาะหวายไปยังชุมชนของชาวพวน (คนลาวจากเวียงจันทน์) ต่าง ๆ ในตำบลหนองแสงที่อยู่ติดกันที่ชุมชนคลองคล้า พักแวะชมภาพปูนปั้นนูนสูงอายุ 91 ปี ปั้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 เป็นภาพปริศนาธรรม 16 ภาพรอบฐานพระอุโบสถวัดศรีมงคล จากนั้นขี่ต่อหยุดพักที่ชุมชนบุ้งเข้ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะในปีที่ 2 เส้นทางบางช่วงผ่านป่าเชิงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ร่มรื่นไปหยุดอีกครั้งที่ชุมชนเนินหินแร่ซึ่งมีศูนย์การเรียนรู้ริมทุ่งนาสะพานเดินไม้ไผ่ดอนยายแมะ มีเขาใหญ่เป็นฉากเบื้องหลังและไปสิ้นสุดที่ชุมชนหนองหัวลิงซึ่งมีบ้านต้นไม้เป็นจุดเด่น แล้วขี่ย้อนกลับตามเส้นทางเดิมมากินอาหารกลางวันที่วัดปทุมวงษาวาสเป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 25 กม.
น.อ.นิสิต อัตตเจริญวงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน 4 วิถีชุมชนไทยพวนเทศบาล ต.เกาะหวาย อ.ปากพลี จ.นครนายก กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เรื่องการพัฒนาโครงการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์จึงทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเสนอโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะปี 3 ขอสนับสนุนทุนดำเนินการตั้งคณะทำงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและชุมชน อาทิ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.นครนายก องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหวาย เทศบาลตำบลเกาะหวายสำนักงานสาธารณสุข อ.ปากพลี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปากพลี, รพ.สต.บ้านใหม่ และสถานีตำรวจภูธรปากพลี
รวมทั้งสร้างการรับรู้และเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้คนในชุมชนจัดประชุมทำความเข้าใจป้ายประชาสัมพันธ์ ปรับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ อาทิ จุดซ่อมจักรยาน ติดตั้งป้ายเตือนป้ายสัญลักษณ์ ส่งเสริมความปลอดภัยให้จักรยานและรถอื่นใช้ถนนเส้นทางร่วมกัน จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยาน ได้แก่ ชวนคนในชุมชนออกมาใช้จักรยานทำกิจกรรมในชุมชนและชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จักรยานเดินทางท่องเที่ยวในชุมชนและเครือข่ายรอบชุมชน
ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเป็นอีกนวัตกรรมของสังคมจักรยานแบบมีส่วนร่วมให้ร่วมคิด ร่วมทำและร่วมรับประโยชน์ด้วยกันนอกจากคนในชุมชนจะมีสุขภาพดีแล้วยังทำให้เกิดชุมชนท่องเที่ยวโดยจักรยาน