วิถีเศรษฐกิจชุมชนยุคใหม่ใน ‘ฉะเชิงเทรา’
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สยามโฟกัสไทม์
วิถีเศรษฐกิจชุมชนยุคใหม่ใน 'ฉะเชิงเทรา' ททท.บูม 6 อำเภอ ขายเส้นทาง Gastronomy
ฉะเชิงเทรา" เมืองแห่งสายน้ำ เต็มไปด้วยจุดขายใหม่ทางการท่องเที่ยวในฐานะดินแดนแห่ง "ศูนย์รวมแหล่งอาหารคาว-หวาน" กระจายอยู่ทั่วทุกชุมชนที่ "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" (ททท.) ภูมิภาคตะวันออก เตรียมบูมเส้นทาง "ท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastronomy" แก่ผู้ที่ชื่นชอบการกิน แต่ละเมนูหยั่งลึกเข้าถึง "รากวิถีวัฒนธรรมหลายร้อยปีที่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย" ผ่านกระบวนการเพาะปลูกพืช ผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ จับสัตว์น้ำ มาสร้างสรรค์เมนูแต่ละจานด้วยส่วนผสมหลอมรวมการผลิตสะท้อนภาพได้ยิ่งใหญ่กว่าเพียงแค่เสพติดรสชาติความอร่อย ทว่าในอาหารทุกจานคือช่วงชีวิตหลายร้อยปีของชุมชนความเป็นคนไทย ในฉะเชิงเทรา 6 อำเภอ กำลังสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งด้วยการชูอาหารถิ่นสไตล์แวะชิมริมทางได้บรรยากาศ
เริ่มต้นที่ "อำเภอพนมสารคาม" สร้างประสบการณ์เรียนรู้ "สวนเมลอน TT Melon Farm" ของ "เต๋อ-ธัชพิชญ์ ไชยธีรานุวัฒศิริ" ผู้เป็นทั้ง Start up และ Smart Farmer มีฟาร์มติดถนนใหญ่ แปลงปลูกเมลอนโรงเรือนขนาด 11 ไร่ ลงทุนกว่า 10 ล้านบาท โดยคัดสรรพันธุ์เมลอนต้นตำรับจากญี่ปุ่นอย่าง คิมูจิ บิวตี้กรีน บิวตี้ออเรนจ์ มาปลูกแล้วแปรรูปเป็นเมนูเมลอนปั่นละเอียดดั่งปุยเมฆ ส่งกลิ่นหอม โดยนำเนื้อเมลอนไปเข้าเครื่องอัดออกมาเป็น Dry Spray ปริมาณ 1 ผลได้ผงเมลอนเพียง 100 กรัมเท่านั้น ส่วนราคาขายเมลอนปั่นเพียงแก้วละ 75 บาท ต่างจากการขายเป็นผล ผลละ 100-250 บาทขึ้นไป ส่วนที่ขายได้ราคาอยู่บ้างคือ "เมนูเมลอนบิงซู" ได้ เทรนด์น้ำแข็งไสเกาหลีมาเป็นตัวช่วยทำให้วัยรุ่นนิยมสั่งรับประทาน
อาหารมื้อกลางวันขึ้นชื่อของชาวพนมสารคามคือ "ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ" กรรมวิธีการทำแยก 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นข้าวเกรียบปากหม้อไส้ต่างๆ ส่วนที่สองเป็นน้ำซุปกระดูกหมูชิ้นโต ต้มตามสูตรโบราณ ระหว่างรับประทานจะต้องนำข้าวเกรียบปากหม้อใส่ลงในน้ำซุปแสนอร่อย
มาถึง "อำเภอบางคล้า" ระหว่างทางจะมีร้านวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากน้ำโจ้โล้ ใช้ชื่อแบรนด์ "ป้าบุญมี-ย่าพูล" ผู้นำการสร้างตำนาน "หมี่กรอบ" ออกแบบเป็นแท่งกลมแห่งเดียวในโลก กับ "ขนมเปี๊ยะสูตรโบราณ"ทำให้ขนมบ้านๆ กลายเป็นของรับประทานสู่ตลาดอินเตอร์ เนื้อในหมี่ทุกเส้นมีสมุนไพรพืชสวนครัวแทรกซึมอยู่ทุกอณู มีให้เลือกถึง 8 รส ล่าสุดมีขนมเปี๊ยะไส้ฝอยทองเกรดพรีเมียม บรรจุด้วยแพ็กเกจจิ้งเรียบหรูสวยงาม
หมี่กรอบของป้าบุญมีและย่าพูลโด่งดังไปถึงต่างแดน มียอดส่งออกสู่ญี่ปุ่น จีน และอีกหลายประเทศ รวมทั้งกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ สั่งผลิตรสชาติพิเศษเฉพาะคือ "หมี่กรอบรสต้มยำกุ้ง" นำไปวางจำหน่ายในร้านค้าดิวตี้ฟรีทั่วประเทศ
ใกล้ๆ กันก็มีสถานที่ท่องเที่ยว "วัดปากน้ำโจ้โล้" สีทองอร่าม ติดแม่น้ำ และมีบริการนั่งเรือ
ชม "รอบเกาะลัด" กลางลำน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำป่าต้นจาก ชาวบ้านสามารถจับมาบริโภคและขายสร้างรายได้เลี้ยงชีพ รวมทั้งมีพระพิฆเนศสี่กร มีอนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และมีวัดโพธิ์บางคล้า มีค้างคาวแม่ไก่ออกอาหารช่วงเวลาโพล้เพล้
ขณะที่ "อำเภอคลองเขื่อน" เป็นศูนย์รวม "วิถีเกษตรชุมชนชาวตำบลคลองเขื่อน" ณ โรงแรมเดวารีสอร์ท ซึ่งนำศาสตร์พระราชามาออกให้เยาวชนและกลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีทั้งการดำนา ปลูกข้าว ทำซั้งปลาในแม่น้ำบางปะกง เรื่อยไปจนถึงการนั่งรถอีแต๊กทัวร์สวนเกษตรชาวคลองเขื่อนราว 30 นาที ไฮไลต์คือ "สวนมะม่วงน้ำดอกไม้" เพราะที่นี่เป็นแหล่งปลูกใหญ่ที่ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีสวนมะพร้าว สวนหมาก พืชเศรษฐกิจ
และยังคงอนุรักษ์วิถีการ "จับกุ้งแม่น้ำบางปะกง" นำมาย่างเสิร์ฟขายกิโลกรัมละ 700 บาทขึ้นไป ให้นักท่องเที่ยวชิมช่วงมื้อค่ำอย่างเอร็ดอร่อย คู่กับเมนูสุขภาพทำจากพืชผักพื้นบ้านปลอดสารพิษที่ปลูกอยู่ทั่วรีสอร์ต
เมื่อเดินทางต่อไปยัง "อำเภอนาแปลงยาว" ลุยถนนดินแดงไปยัง "ฟาร์มปลากะพงยักษ์" ของ"คุณประโยชน์ โสรัจจกิจ" เป็นแห่งเดียวในเมืองไทยและในโลกที่เลี้ยงกะพงยักษ์ในบ่อดินกลางทุ่งโล่ง 300 ไร่ ทุ่มทุนไปแล้วหลายสิบล้านบาท เพื่อสร้างแหล่งอาหาร แต่ละวันจะจับได้วันละ 3-4 ตัน แต่ละปีก็มีปลาชนิดนี้หมุนเวียนจำหน่าย 3,000-4,000 ตัน กระจายไปขายตามที่ต่างๆ แบบเป็นตัวขนาด 1-2 กิโลกรัม และแร่เป็นชิ้นแพ็กแช่แข็ง กิโลกรัมละ 500 บาทขึ้นไป ป้อนให้ซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ ฟู้ดแลนด์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ร้านอาหารดังๆ ทั่วฉะเชิงเทรา
ไฮไลต์การชมฟาร์มปลากะพงยักษ์คือ "กรรมวิธีทำให้ปลาตาย" จะใช้เหล็กแหลมเจาะเส้นประสาทปลาน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัม เพื่อทำให้เลือดออกจากตัวจนหมดแล้วนำไปน็อกด้วยน้ำเย็น จะทำให้เนื้อปลาสด ไร้กลิ่นคาวและเก็บไว้ได้นาน ปัจจุบันปลากะพงยักษ์ถูกนำไปเป็นปรุงเป็นเมนูตามร้านอาหารและทำไส้ขนมปั้นขลิบขายอยู่ในร้านวิสาหกิจชุมชนของป้าบุญมี-ย่าพูลด้วย
พอผ่าน "อำเภอเมือง" แวะไปดู "ตลาดพอใจ-ตลาดเกษตรปลอดภัย @ส.ป.ก.แปดริ้ว" เพิ่งเปิดเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น บริเวณ ลานหน้าสำนักงาน ส.ป.ก.ฉะเชิงเทรา โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับ ส.ป.ก.แปดริ้ว และบริษัท โอสถสภา โดยส่งเสริมชุมชนทำเกษตรอินทรีย์และแปรรูปสินค้ามาจำหน่าย ร้านอาหารปลอดภัย จัดอมรมฟรีทำเกษตรแบบง่ายๆ
"วิฑูรย์ อินทจันท์" ผู้จัดการโครงการฯ จาก สสส. อธิบายว่า โครงการตลาดปลอดภัยฯ เป็นการสร้างเครือข่าย "โครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ" ที่ สสส.เตรียมขยายพื้นที่ทั่วฉะเชิงเทราไปยังอีก 3 อำเภอ ทั้งที่แปลงนายาว คลองเขื่อน และบางคล้า
ในอำเภอเมืองยังมีโรงงานผลิตและร้านจำหน่ายขนมเปี๊ยะสูตรโบราณที่สืบต่อกันมากว่า 100 ปีที่ร้าน "ตั้งเซ่งจั้ว" นอกจากรสชาติจะเด็ดแล้ว แพ็กเกจจิ้งยังสะดุดตา สีสันทันสมัยสวยงาม "คุณช่วงชัย ตันคงคารัตน์" ทายาทรุ่น 4 บอกว่า สั่งซื้อเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์จากญี่ปุ่นมาทำแพ็กเกจ ส่วนการผลิตก็เน้นความสะอาด รสชาติดั้งเดิม ทำให้ขนมเปี๊ยะมีให้เลือกหลายชนิด ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ส่งท้ายกันที่ "อำเภอบ้านโพธิ์" ไปชม "มินิ มูราห์ ฟาร์ม" ศูนย์รวมอาหารและแหล่งเรียนรู้ฟาร์มเลี้ยงควายพันธุ์มูราห์ ที่นำน้ำนมมาแปรรูปทำอาหารคาว "พิซซ่าเตาถ่านหน้าชีสนมควาย-Moz-zarella" และของหวาน เช่น "ไอศกรีมนมควาย" นมสดควายบรรจุขวดแก้ว และผลิตภัณฑ์แปรรูปบำรุงผิวอีกหลายชนิด
"วรัญญู โทณะวณิก" คนรุ่นใหม่วัย 30 เศษ เจ้าของฟาร์มแห่งนี้ เล่าว่า การเลือกมาเปิดฟาร์มควายมูราห์เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะต้องการชวนครอบครัวคนรุ่นใหม่พาลูกหลานมาย้อนชมวิถีไทย และได้ร่วมทำกิจกรรม D.I.Y. อย่างทำไอศกรีม ป้อนอาหารสัตว์ ทำพิซซ่า หรืออีกหลายกิจกรรมในพื้นที่กว่า 30 ไร่ ช่วงวันธรรมดามีนักท่องเที่ยวแวะมาท่องเที่ยวราว 100-200 คน หากเป็นวันหยุดจะหนาแน่น 200-300 ครอบครัว จำนวนกว่า 1,000 คน
ก่อนกลับกรุงเทพฯ แวะไป "อำเภอบางปะกง"ดูฟาร์มเลี้ยงปลากะพงแบบกระชัง อยู่ติดแม่น้ำบางปะกง ปลายทางสุดท้ายก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย
เป็นการเปิดโลก "ท่องเที่ยววิถีการกินอย่างถึงแก่นวัฒนธรรมชุมชน" ตามคอนเซ็ปต์ Gas-tronomy ที่ ททท.จะยกระดับฉะเชิงเทราเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอาหารแบบครบวงจร เสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป