วิถีพุทธนอกตำรา “เด็กปัญญา”ครูโต้ง

กว่า 3 ปี ที่ครูหนุ่ม โต้ง พรมกุล หรือ ครูโต้ง ของเด็กๆ ครูโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล วัย 32 ปี เป็นตัวหลักสำคัญในการริเริ่มกิจกรรมโครงการวิถีชีวิตไตรสิกขา เด็กปัญญาทำได้ ที่พัฒนาแนวคิดสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กที่ผิดปกติด้านการเรียนรู้ ตามแบบวิถีพุทธของเครือข่ายพุทธิกา

ครูโต้งมองว่า แม้เด็กพิการทางสติปัญญาจะมีอุปสรรคทางกายภาพ มีขีดจำกัดการเข้าถึงทักษะการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเด็กปกติ หากแต่การพัฒนาวิธีคิด การสร้างความสุขที่มาจากการให้ การตั้งสติ และการบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่มีอะไรที่นักเรียนของที่นี่จะทำไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ครูโต้งและทีมจึงผสานองค์ความรู้ที่มี ออกแบบกิจกรรมและสร้างเครื่องมือ หวังให้กลุ่มนักเรียนเหล่านี้เข้าถึงการมีสุขภาวะในแบบที่ควรจะเป็น สามารถอยู่ในสังคมได้ นั่นหมายถึงการช่วยเหลือตนเอง ลดการพึ่งพิงจากผู้อื่น มีจิตใจที่สงบเยือกเย็นลง

การที่ครูหนุ่มคนนี้มุ่งมั่นให้ความรู้กับเด็ก โดยให้ความสำคัญกับสติ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “สติมา ปัญญามี” เป็นเพราะเขาร่ำเรียนมาทางนี้โดยตรง ครูโต้งเป็นชาวอุดรธานี หลังจบชั้นป.6 มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม ประจำจังหวัดขอนแก่น เมื่อเรียนได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และจบการศึกษา จึงมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ จนได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต แล้วไปทำงานด้านสังคมสงเคราะห์สังกัดกรุงเทพมหานคร 1 ปี พอมีเปิดรับสมัครสอบครู เขามุ่งมั่นตั้งใจมาสมัคร เมื่อสอบติดก็ไปร่วมอบรมครูการศึกษาพิเศษ กระทั่งได้มาสอนที่โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล

“เมื่อเราเป็นครู เราก็อยากให้ลูกศิษย์เราได้รับสิ่งที่ดี” ครูโต้งบอก ดังนั้นเขาจึงคิดโครงการใหม่ๆ ในการสอนขึ้นมาหลายโครงการ บางโครงการก็ใช้ทุนจากภายนอก เช่น โครงการวิถีชีวิตไตรสิกขา เด็กปัญญาทำได้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการสุขแท้ด้วยปัญญาที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุน

“แนวคิดสุขแท้ด้วยปัญญานั้นเป็นการสร้างความสุขที่แท้จริง เพราะความสุขไม่จำเป็นต้องมาจากความพร้อมในทุกอย่าง หรือมั่งมีเงินทอง แต่เป็นการมีความสุขที่ผ่านการใช้สติปัญญา ทั้งการคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง เชื่อมั่นในความเพียรพยายาม คิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่ยึดติดกับวัตถุ เราจึงเขียนใบสมัครเสนอโครงการไป และช่วยกันออกแบบกิจกรรม

อย่างเด็กคนไหนไม่นิ่งผมจับเขามาวิ่งก่อนเลย วิ่งบนเครื่องวิ่งเพื่อลดพลังงาน ลดความฟุ้งซ่านที่มากเกินไป จากนั้นอาจจะฝึกสมาธิด้วยการเดินหรือนั่งสักพัก เปิดเสียงคำสอนคลอเบาๆ ให้เขาได้พักผ่อนสติตัวเอง ฝึกนั่งสมาธิในวิธีการต่างๆ เพราะห้องธรรมานุบาลแท้จริงคือการสร้างแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนเข้าถึงศาสนา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ หรือในบรรยากาศที่เงียบ เย็นสบาย ที่ง่ายต่อการรับฟังหลักธรรมคำสอน ดีกว่าบรรยากาศปกติ”

ส่วนการบำเพ็ญประโยชน์นั้น ครูโต้งอธิบายว่า เริ่มจากการที่สังคมมักมองว่าโรงเรียนเด็กพิการคือ “แหล่งบุญ” ของคนปกติ ผลลัพธ์ในเรื่องนี้นอกจากความสบายใจของผู้ให้ และการร่วมแบ่งปันของคนในสังคมแล้ว ในมุมกลับได้สร้างลักษณะนิสัยที่ไม่ดีนักให้เด็กในโรงเรียน เกิดการเอาแต่รอคอยผู้มาบริจาค กินทิ้งกินขว้าง หนักเข้าถึงขนาดเอาแต่ใจและเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นที่มาของการหากิจกรรมให้เด็กในโรงเรียนออกไปช่วยสังคมในรูปแบบอาสาสมัครที่วัดในช่วงสุดสัปดาห์ คอยหยิบเท่าที่จะทำได้ ไล่ตั้งแต่การจัดรองเท้า ล้างจาน ประเคนอาหาร ฯลฯ รวมถึงการร่วมอาสาสร้างประโยชน์ในบ้านพักคนชรา 

“ทำให้เขารู้จักการให้บ้าง ขณะที่อีกมุมคือการให้ชุมชนยอมรับความสามารถของเด็กพิการเหล่านี้ อย่าลืมว่าเด็กนักเรียนของเรา เป็นเด็กจากพื้นที่อื่นที่ต้องมาเรียนในโรงเรียนพิเศษเพราะความบกพร่องทางกายภาพ แต่เด็กเหล่านี้ไม่มีความผูกพันกับคนในชุมชนเลย การแสดงถึงการยอมรับจากวัด จากพระ จากผู้อาวุโส ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเห็นประโยชน์ของพวกเขา เปลี่ยนมุมมองว่าเด็กพิการทางปัญญาเหล่านี้มีคุณค่า มีศักยภาพมากกว่าจะรอคอยแต่ความสงสาร” ครูหนุ่มเฉลยหลักการที่ซ่อนจากกิจกรรม’

ครูโต้งทิ้งท้ายว่า การร่วมกิจกรรมสุขแท้ฯ ทำให้เขาได้โอกาสลองทำอะไรใหม่ๆ เกิดความอยากพัฒนาในระดับต่อๆ ไป พร้อมกับส่งเสริม หาเครือข่ายนักพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำไปประ ยุกต์กับงานของตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้นผลของการทำงานช่วยยืนยันความเชื่อที่ว่าหลักคิด ที่ดี กระทั่งแนวคิดทางศาสนาไม่ใช่เรื่องสูงส่ง กลับกันด้วยซ้ำที่เราสามารถสัมผัสและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้

ขณะเดียวกันผลลัพธ์อีกทางหนึ่งที่ก่อเกิดเกียรติยศส่วนบุคคลให้กับครูโต้ง คือได้รับคัดเลือกเป็น “ครูสอนดี” ประจำปี 2554 จากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code