วิจัยเผยเคี้ยวข้าวป้อนลูกแพร่เชื้อเอดส์ได้

พบแม่ติดเอชไอวีสามารถถ่ายทอดเชื้อไปถึงลูกได้ผ่านการเคี้ยวอาหารป้อน

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลการวิจัยที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าการให้อาหารทารกและเด็กเล็กด้วยการเคี้ยวด้วยปากก่อนป้อนซึ่งยังพบอยู่มากในประเทศกำลังพัฒนานั้นหากผู้เคี้ยวเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์จะมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่ทารกได้

 

ผลการวิจัยนี้เป็นการศึกษาของนักวิจัยจากศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี ซึ่งระบุว่าแม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็พบว่ามีกรณีที่เด็กเล็กได้รับเชื้อเอชไอวีผ่านการให้อาหารในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน ล่าสุดมีการรายงานว่าพบ 3 ราย โดย 2 รายพบในรัฐไมอามี และอีก 1 รายในรัฐเทนเนสซี ทั้งนี้ตามรายงานระบุว่าเป็นการติดเชื้อในช่วงปีค.ศ.1993 และปีค.ศ.2004

 

รายงานของซีดีซีระบุอีกด้วยว่า 2 รายนั้นเป็นการที่เด็กได้รับเชื้อเอชไอวีจากมารดาของพวกเขาเอง ส่วนอีก 1 รายเป็นการรับเชื้อจากญาติคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นคนดูแลเด็กคนนั้นและเป็นผู้ให้อาหารเด็กด้วยการเคี้ยวก่อนป้อน

 

นักวิจัยกล่าวว่าการให้อาหารเด็กแบบที่เคี้ยวก่อนป้อนนั้นพบมากในประเทศกำลังพัฒนาที่แม่หรือคนที่เลี้ยงเด็กไม่มีอุปกรณ์ในการช่วยบดอาหารเป็นต้นว่าเครื่องปั่นหรือบดอาหารสำหรับเด็ก ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศในซีกโลกตะวันตกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถึงแม้ว่าจะพบว่ามีอยู่บ้างก็น้อยเต็มที

 

ผลการวิจัยนี้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ในเมืองบอสตันประเทศสหรัฐอเมริกา และระบุว่าน้ำลายนั้นไม่ใช่ตัวที่ทำให้เชื้อเอชไอวีแพร่ไปสู่เด็กแต่เลือดที่อาจมีปนอยู่กับน้ำลายน่าจะเป็นสื่อที่ทำให้ไวรัสเอชไอวีแพร่ไปสู่เด็กที่รับอาหารที่ผู้ติดเชื้อเคี้ยวให้เข้าไปสู่ร่างกายได้

 

นักวิจัยระบุด้วยว่าการติดเชื้อเอชไอวีของเด็กที่รับประทานอาหารที่เคี้ยวโดยคนที่ติดเชื้อเอชไอวีนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเลือดจากเหงือกของคนเคี้ยวที่ติดเชื้อที่ปนเปื้อนมากับอาหารเข้าไปสู่กระแสเลือดของเด็กผ่านทางรอยแผล หรือแผลอักเสบในช่องปากหรือท่อทางเดินอาหารของเด็ก

 

ทั้งนี้นักวิจัยกล่าวว่าการวิจัยของพวกเขาได้ตัดกรณีโอกาสที่เด็กอาจจะติดเชื้อผ่านทางการให้นมแม่ หรือการเปลี่ยนถ่ายเลือดออกแล้ว จึงมั่นใจว่าเป็นการได้รับเชื้อผ่านทางอาหารที่เคี้ยวป้อนอย่างแน่นอน

 

การติดเชื้อเอชไอวีผ่านทางการป้อนอาหารที่เคี้ยวก่อนนี้ถือเป็นช่องทางใหม่ในการแพร่เชื้อที่เพิ่งค้นพบและน่าจะเป็นพื้นฐานให้กับการศึกษาต่อ ๆ ไปในการที่จะหาทางในการลดการแพร่เชื้อในลักษณะนี้ดร. เคน โดมินิเกซ์ และคณะผู้วิจัยกล่าว

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

update 27-02-51


Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ