วิจัยพบเด็กอีสาน”เตี้ย”ขาด”ธาตุสังกะสี”
แนะ เน้นกินเนื้อสัตว์มากขึ้น
นักวิจัยนานาชาติเผย แร่ธาตุสังกะสีเป็นสารอาหาร “น้องใหม่มาแรง” ของโลก สำคัญเทียบเท่าวิตามินเอ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน มีคุณสมบัติทำให้เด็กตัวไม่เตี้ยหรือแคระแกร็น ป้องกันโรคท้องร่วง นิวมอเนีย ในไทยพบเด็กตัวเตี้ยเพราะขาดแร่ธาตุสังกะสี 10-12% ภาคอีสานมากที่สุด นักวิชาการแนะปรับโภชนาการเน้นกินเนื้อสัตว์มากขึ้น
ในการประชุมโภชนาการนานาชาติ ครั้งที่ 19 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ไบเทค บางนา ได้มีการบรรยายพิเศษ “แร่ธาตุสังกะสีกับสุขภาพ” โดยมี ศ.ดร.เคนเน็ธ บราวน์ นักโภชนาการและกุมารแพทย์ที่มีชื่อเสียงจาก ม.แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา, ศ.โรซาลิน กิ๊บสัน นักโภชนาการที่มีชื่อเสียงจาก ม.โอตาโก นิวซีแลนด์ และ รศ.พัตธนี วินิจจะกูล จากสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล ร่วมบรรยายผลงานวิจัยเกี่ยวกับธาตุสังกะสีกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์โภชนาการ
ศ.ดร.เคนเน็ธกล่าวว่า กว่าที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ คณะผู้วิจัยแร่ธาตุสังกะสีจะประมวลบทสรุปได้ว่าแร่ธาตุสังกะสีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ก็กินเวลานานกว่า 20 ปี ผลการวิจัยพบว่า แร่ธาตุสังกะสีเป็นแร่ธาตุน้องใหม่มาแรงที่มีความสำคัญมาก เท่าเทียมกับวิตามินเอ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน ที่เป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก จากการวิจัยพบว่าแร่ธาตุสังกะสีสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคท้องร่วง และโรคนิวมอเนียในเด็กได้ โดยโรคภัยทั้ง 2 ชนิดนี้ มักเกิดขึ้นกับเด็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งบริการทางการแพทย์มักเข้าไม่ถึง ผลการศึกษาพบว่า หากให้แร่ธาตุสังกะสีกับเด็กจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคท้องร่วง 27% และช่วยลดการเกิดโรคนิวนิวมอเนียในเด็กได้ 15%
ส่วนการทำงานของแร่ธาตุสังกะสี พบว่า นอกจากช่วยทำให้อาการโรคท้องร่วงและนิวมอเนียดีขึ้นแล้ว ยังทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วย องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่าควรเสริมแร่ธาตุสังกะสีในอาหารแก่กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาต่อไป
“ในแง่การเจริญเติบโตของร่างกายพบว่า แร่ธาตุสังกะสีมีคุณสมบัติในการยึดเกาะโปรตีนสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งหากเด็กขาดแร่ธาตุชนิดนี้ก็จะทำให้ตัวเตี้ย ร่างกายแคระแกร็น ปัจจุบันพบว่าเด็กในแถบแอฟริกา และเอเชียใต้มีปัญหาตัวเตี้ยประมาณ 40% และเฉลี่ยทั่วโลกมีเด็กที่ส่วนสูงไม่มากเท่าที่ควรเพราะขาดแร่ธาตุสังกะสีมีประมาณ 30%”
ศ.ดร.เคนเน็ธ กล่าวถึงปัญหาการขาดแร่ธาตุสังกะสีในไทยพบว่า มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง โดยเฉลี่ยอยู่ในอัตรา 10-12% โดยเฉพาะเด็กในแถบภาคอีสานขาดแร่ธาตุสังกะสี 12.3% ภาคเหนือ 10.4% ภาคกลาง 8.9% และภาคใต้สูงถึง 18.3% โดยเด็กที่ขาดแร่ธาตุสังกะสีจะมีส่วนสูงและน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน
รศ.พัตธนี กล่าวว่า ภาวะขาดแร่ธาตุสังกะสีในเด็กทารกและเด็กนักเรียน ที่ ศ.ดร.เคนเน็ธกล่าวถึงเป็นผลวิจัยของสถาบันวิจัยโภชนาการ ซึ่งในรายละเอียดของการวิจัยได้ทำการวิจัยทารก 200 คนใน จ.อุบลราชธานีเมื่อช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โดยการเจาะเลือดพบว่าเด็กขาดแร่ธาตุสังกะสีประมาณ 34% ส่วนการวิจัยนักเรียนระดับประถม 600 คน รร.เทศบาลใน จ.อุบลราชธานี ทำเมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งการวิจัยเด็กกลุ่มนี้เกิดจากการสังเกตุเห็นเด็กนักเรียนบางกลุ่มมีรูปร่างเตี้ยไม่สูงเท่าที่ควร และเมื่อเจาะเลือดก็พบว่าเด็กกลุ่มนี้ขาดแร่ธาตุสังกะสีประมาณ 44% นอกจากนี้ จากการสุ่มตรวจเมื่อปีก่อนที่ภาคใต้ใน จ.สตูลก็พบว่าขาดแร่ธาตุสังกะสีถึง 18% หรือตัวเตี้ยแคระแกร็นประมาณ 30%
สาเหตุของการขาดแร่ธาตุสังกะสี รศ.พัตธนี กล่าวว่า น่าจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน และความไม่รู้ของประชาชน โดยพบว่าเด็กอีสานส่วนใหญ่กินข้าวเป็นอาหารหลัก สัดส่วนมากถึง 70% และกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งแร่ธาตุสังกะสีน้อยกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ แม้ว่าในข้าวจะมีแร่ธาตุสังกะสีอยู่บ้าง แต่ด้วยวิธีการหุงโดยเฉพาะข้าวเหนียวที่คนอีสานจะต้องแช่ข้าวค้างคืนก่อนนำมาหุง ทำให้แร่ธาตุต่างๆ สูญเสียไปกับน้ำที่แช่ไปทั้งหมด
“เราไม่รู้สึกพอใจกับอัตราขาดแร่ธาตุสังกะสี 10-12% ไม่ใช่พอรู้ว่าขาดก็เติมลงไป แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะอาหารก็เหมือนยา สังกะสีมีส่วนในการป้องกันโรค ในบ้านเรายังมีพื้นที่ที่ห่างไกล รพ. และมีเด็กขาดแร่ธาตุนี้ที่มักจะเจ็บป่วยบ่อย เกิดอาการท้องร่วง กว่าจะไปหาหมอบางครั้งอาจไม่ทันเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้น จึงไม่ควรให้เด็กขาดแร่ธาตุสังกะสีที่มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายเด็กเติบโต และป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ในเวลาเดียวกัน” รศ.พัตธนีกล่าว
ด้าน ศ.โรซาลิน กล่าวถึงการแก้ปัญหาการขาดแร่ธาตุสังกะสีในเด็กว่า ควรเน้นให้ความสำคัญการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพราะน้ำนมมารดาเป็นแหล่งที่ดีของธาตุสังกะสี และเน้นให้บริโภคเนื้อสัตว์ พวกเนื้อแดง เป็ด ไก่และปลาเพิ่มขึ้น ส่วนในภาคอีสานของไทยที่สภาพดินเพาะปลูกมีปัญหาขาดแร่ธาตุสังกะสี ก็ควรมีการเติมปุ๋ยที่มีแร่ธาตุสังกะสีลงไป หรืออาจต้องมีการปรับ
ปรุงพันธุ์พืชพวกข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนในชนบทให้มีแร่ธาตุสังกะสีมากขึ้น นอกจากนี้ ยังควรลดอาหารบางอย่าง เช่น แป้งข้าวโพด ที่ไปขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุสังกะสีในอาหารด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update: 08-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย