วิกฤต “ยาเส้น” อันตรายไม่แพ้บุหรี่ซอง
ส่งผลต่อร่างกายพอกัน
ปัจจุบันสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อผู้สูบบุหรี่คือ มีผู้สูบบางกลุ่มยังไม่ลดการสูบบุหรี่ เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ โดยหันไปสูบบุหรี่มวนเองหรือบุหรี่ยาเส้น ที่มีราคาถูกกว่าบุหรี่ซอง แต่มีโทษต่อร่างกายไม่แพ้กัน
การที่บุหรี่มวนเองกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากผู้สูบบุหรี่กลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในเขตชนบท ซึ่งใกล้กับแหล่งผลิตยาเส้นจึงหาซื้อได้ง่ายกว่า และมีราคาถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงานที่ปัจจุบันมีราคาแพงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการเพิ่มภาษีบุหรี่ของรัฐบาล นอกจากนี้ผู้สูบสามารถเปลี่ยนแปลงรสชาติของบุหรี่ได้โดยการปรุงแต่งยาเส้นทำให้รสชาติมีหลากหลายมากกว่าบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) อธิบายว่า จากการศึกษาข้อมูลสถานการณ์การบริโภคบุหรี่มวลเองพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2550 พบว่ามีผู้สูบบุหรี่มวนเองถึงร้อยละ 53.95 เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีอยู่ร้อยละ 50 ขณะที่ผู้สูบบุหรี่ซองที่ผลิตในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 43
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงแบบแผนการสูบบุหรี่ของผู้สูบบุหรี่มวนเองเป็นประจำจะมี อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยผู้ที่สูบบุหรี่มวนเองเพียงประเภทเดียว มีร้อยละ 48.03 ขณะที่มีสูบบุหรี่มวนเองร่วมกับบุหรี่ประเภทอื่นด้วย อยู่ที่ร้อยละ 9.82
ดร.ศิริวรรณ เล่าอีกว่า แม้บุหรี่มวนเองจะม่ราคาถูกกว่าบุหรี่ซองหลายเท่า แต่มีอันตรายเหมือนกันทุกอย่าง คือ ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก ขณะที่กระดาษที่ใช้มวนก็มีอันตรายเช่นกัน เพราะหากเป็นกระดาษที่มีสีสัน หรือมีสารเคมีเคลือบปน ก็จะทำให้ผู้สูบเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน
เนื่องจากสถานการณ์การสูบยาเส้นหรือบุหรี่มวนเองมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการรณรงค์ควบคุมการบริโภคยาสูบ ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลหามาตรการป้องกัน ซึ่งทาง ศจย.เห็นว่า มาตรการควบคุมบุหรี่มวนเองที่ได้ผล คือ รัฐบาลจะต้องแก้ไขกฎหมายยาสูบในการเก็บภาษียาสูบให้ครอบคลุมยาเส้นพื้นเมือง ซึ่งทำให้ราคาบุหรี่มวนเองสูงขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลสามารถทราบจำนวนผู้ประกอบการผลิตยาเส้นพื้นเมืองที่แน่นอน อีกทั้งยังช่วยควบคุมการผลิตยาเส้นให้มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวจะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ซองและบุหรี่มวนเองแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ดร.ศิริวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากมาตรการเพิ่มภาษีแล้วในส่วนของ ศจย.ยังได้เสนอแนวทางการลดการบริโภคยาสูบควบคู่กันด้วย ซึ่งจากการวิจัยสมุนไพรหญ้าดอกขาว ของ ศจย.ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า มีสรรพคุณช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ลงได้ สอดคล้องกับผลวิจัยของสถาบันธัญลักษณ์ก่อนหน้านี้ที่ได้ผลสรุปชัดว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยเลิกบุหรี่ได้ โดยขณะนี้ ศจย.ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ ในการนำผลการศึกษาที่ได้ไปต่อยอดโดยการนำสมุนไพรหญ้าดอกขาวไปสกัดเป็นสารเลิกบุหรี่คาดว่าจะสามารถผลิตออกมาให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ได้ใช้อีกไม่นาน
นอกจากนี้ในวันที่ 27-29 ตุลาคม 2552 ศจย.จะจัดประชุม “เครือข่ายนักวิจัยในการบริโภคยาสูบ” ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่ออภิปรายโจทย์วิจัยที่สำคัญ พร้อมกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาการบริโภคบุหรี่มวนเอง และแสวงหากลุ่มศึกษานโยบายควบคุมยาสูบที่สามารถทำวิจัยประเมินผลและตอบคำถามเชิงนโยบายได้อย่างเท่าทันสถานการณ์ เพื่อร่วมกันหาข้อเสนอเชองนโยบายในการควบคุมการบริโภคยาสูบพร้อมทั้งจัดทำเครือข่ายการวิจัยให้เป็นวงจรที่ยั่งยืนมีความต่อเนื่องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) โทร. 0-2354-5346 หรือ www.trc.or.th
ทิ้งท้ายกันด้วยงานบุญ สำหรับประชาชนที่สนใจร่วมงาน “ทอดกฐินสร้างเสริมสุขภาวะ จังหวัดราชบุรี” ในวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม และวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ย. นี้ ที่วัดประชาพลแสน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี งานนี้ถือเป็นการสร้างกระแสงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ผู้สนใจไม่ควรพลาดสอบถามเพิ่มเติมที่ 0-2298-0500
สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update: 27-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย