วางกฏเหล็กคุม ‘สปาปลา’ แจ้ง 7 มาตรฐานให้บริการ

หลังจากประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศปิดกิจการสปาปลาที่นำปลาตัวเล็กมากัดผิวหนังชั้นนอก เพื่อทำความสะอาดใน 14 รัฐ เนื่องจากตรวจพบว่าอาจมีการติดเชื้อโรคได้ร้อนถึงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องออกมาหามาตรการในการควบคุมเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมสถานประกอบการประเภทสปา พ.ศ…. ต่อรัฐมนตรี สธ. เพื่อผลักดันสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกันนั้น จะมีการจัดทำร่างมาตรฐานการบริการสปาปลาด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ต้องมีการปิดสปาปลาตามที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการ หลังพบการติดเชื้อ โดยมอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำรวจจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสปาปลา และเตรียมวางหลักเกณฑ์เพื่อควบคุม ทั้งเรื่องของความสะอาด และการตรวจโรคของผู้เข้าใช้บริการพื้นฐาน ซึ่งต้องเน้นและเตือนให้ผู้มาใช้บริการต้องปลอดโรคทางผิวหนัง เพื่อลดการเป็นพาหะหรือนำเชื้อไปสู่ผู้อื่น หากพบผู้มีบาดแผลบริเวณเท้า หรือขา ต้องห้ามรับบริการทันที

“ในส่วนของสปาปลาอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยในเรื่องขอใบอนุญาตส่วน สบส. ดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐานแต่ก็ยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมชัดเจนซึ่งล่าสุด สบส. เตรียมเชิญผู้ประกอบการธุรกิจสปาปลาเข้าหารือ ร่วมวางหลักเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานร่วมกัน” นายจุรินทร์กล่าว

นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงมาตรฐานการให้บริการสปาปลาว่า ขณะนี้ สบส. ได้จัดทำร่างมาตรฐานการบริการสปาปลา โดยหารือกับกรมประมงและกรมอนามัยเบื้องต้นมี 7 มาตรฐาน ได้แก่ 1.สถานที่ 2.ชื่อ 3.ปลาที่ให้บริการ 4.การบริการ 5.อุปกรณ์เครื่องมือและผลิตภัณฑ์ 6.ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และ 7.การเฝ้าระวังการติดเชื้อ

โดยปลาที่ใช้ในสปาปลาจะต้องมีขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว ต้องไม่มีฟันบนขากรรไกร เช่น ปลาน้ำผึ้ง ปลานกกระจอกปลาจิ้งจอก ปลาเล็บมือนาง ปลามัน อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้จะต้องมีระบบการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต หรือยูวี มีระบบตัวกรองน้ำชนิดละเอียด น้ำที่ใช้ในอ่างปลาต้องใสสะอาดมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 6.5-8.5 ต้องปราศจากเชื้อ โดยต้องไม่มีโคลีฟอร์มแบคทีเรียและเชื้ออีโคไล (e.coli) มีระบบน้ำหมุนเวียนเข้าอ่างตลอด 24 ชม. ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งในปริมาณไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมด

“ก่อนให้บริการจะต้องมีระบบการคัดกรอง ผู้ที่ไม่ควรใช้บริการสปาปลามี 2 กลุ่มพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง มีบาดแผลหรือตุ่มหนอง และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน” นพ.สมชัยกล่าว

ด้าน นายอัครพล ยันตพร เจ้าของธุรกิจสปาปลา “ทิพสปา” ย่านสุขุมวิท 101/1 กล่าวว่า หากกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้จริงกล่าวว่า หากกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้จริงเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสปาปลาขนาดเล็กที่ไม่มีการควบคุมมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจ สปาปลาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ประเภททั่วไปตามห้างสรรพสินค้า หรือตามโรงแรมรีสอร์ทตามต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันกระจายเกือบทั่วประเทศหลายร้อยแห่งที่ควบคุมมาตรฐานได้ยากโดยเฉพาะการเปลี่ยนน้ำและ 2.ร้านสปาปลาโดยตรง ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพได้มากกว่ามีไม่ถึง 10 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ปลาที่นำมาใช้ควรเป็นปลาการารูฟา เป็นปลาสายพันธุ์ตุรกี จะมีคุณสมบัติดูดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ผลัดเซลล์ผิวเท้า

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน  

Shares:
QR Code :
QR Code