วัยเก๋าสร้างสุข ฉุกคิดก่อนแชท

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก  คู่มือท่องโลกออนไลน์ฉบับวัยเก๋า


ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว  Team Content  www.thaihealth.or.th และ สสส.


วัยเก๋าสร้างสุข ฉุกคิดก่อนแชท thaihealth


“สวัสดีวันจันทร์ จะส่งต่อให้เพื่อนยังไง”


“ทำไม พ่อกดส่งแล้วข้อความไม่ไป”


“สติ๊กเกอร์ รูปภาพสวยๆที่เพื่อนส่งมา แม่อยากได้บ้าง”


หลากหลายคำถาม ที่ผู้สูงอายุยุคใหม่มักจะถามลูกหลานในเรื่องของเทคโนโลยีปัจจุบัน ที่ต้องยอมรับว่าเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อทุกช่วงวัย ไม่เว้นแต่ผู้สูงอายุ


“อยู่บ้านมันเหงา” เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุหลายคนต้องพบเจอ จึงต้องหากิจกรรมต่างๆ เพื่อคลายเหงา อย่างกิจกรรมทางกายที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยสร้างสุขให้จิตใจกระชุ่มกระชวยและไม่เหงาได้เช่นกัน นั่นคือ การเข้าถึงโซเชียลมีเดีย


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) กล่าวถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ในงานเสวนา ‘What & Why Active Aging in Thailand อนาคตของชาวสูงวัยที่เปลี่ยนความแอคทีฟให้เป็นพลัง’ ว่า Active Aging สสส.มองว่า เป็นคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังแข็งแรง สดชื่น เป็นที่พึ่งของคนในครอบครัว มีกิจกรรมต่อเนื่องในชุมชน เป็นหลักชัยของคนในครอบครัวและสังคมได้  หากผู้สูงอายุไม่ Active จะมีผลต่อสุขภาพกายอย่างมาก เพราะเมื่ออายุ 60 ปี ทุกคนจะมีความเสื่อมสมรรถภาพทางกาย หากไม่ Active หรือมีกิจกรรมทางกาย อาจทำให้รู้สึกเหงา


วัยเก๋าสร้างสุข ฉุกคิดก่อนแชท thaihealth


“ สสส. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพ โดยจะมองภาพรวมตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ นั่นคือ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ลดปัจจัยเสี่ยง เตรียมพร้อมสู่วัยสูงอายุ  สสส.เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมทางกาย ให้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ลดช่องว่างระหว่างวัย และเสริมความเข้มแข็งให้องค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ โดยถอดความรู้ และจัดทำหลักสูตร นำไปสู่การสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ” นางภรณี กล่าว


ผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2560  โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ผู้สูงอายุในไทย 75 % ใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดยรู้ไม่เท่าทัน โดยสื่อที่ผู้สูงอายุใช้งานมากที่สุด ได้แก่ Line 52% จากสถิติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า แอปพลิเคชัน Line ยังคงได้รับความนิยม และผู้สูงอายุมักจะสื่อสารผ่านช่องทางนี้


 5 Tips ต้องใช้ ตอบ Line ยังไงให้อีกฝ่ายแฮปปี้


คู่มือท่องโลกออนไลน์ฉบับวัยเก๋า โดย Young Happy ร่วมกับ สสส. ได้แบ่งปันเคล็ดลับดีๆ  เพื่อรักษาชุมชนการแชทให้เป็นสังคมที่น่าอยู่และแฮปปี้ โดย


1.ส่งสติ๊กเกอร์แทนความรู้สึก  การส่งสติ๊กเกอร์เป็นหนึ่งในฟังก์ชันที่ทำให้ไลน์เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้ทุกช่วงวัย  โดยเฉพาะผู้สูงอายุก็ว่าได้ เพราะว่ามีให้เลือกโหลดมากมาย ลองเลือกใช้สติ๊กเกอร์ส่งแทนความรู้สึกดีๆ  เพราะความน่ารักของตัวการ์ตูนบวกกับข้อความ จะช่วยให้ผู้รับรู้สึกดีที่ได้เห็นสติ๊กเกอร์นั้นๆ


2.ใช้อีโมจิสื่ออารมณ์ การใช้อีโมจิหรืออักษรภาพ เป็นการใช้เพื่อสื่ออารมณ์ผ่านข้อความ ซึ่งจะแตกต่างกับการส่งสติ๊กเกอร์ เพราะอีโมจิสามารถแทรกเข้าไประหว่างข้อความที่พิมพ์ สามารถเลือกใช้แทนการพิมพ์ข้อความ จะช่วยสื่ออารมณ์ให้ผู้อ่านมากขึ้น


3.ลงท้ายหางเสียงให้เหมือนพูด  การลงท้ายประโยคด้วยหางเสียง เช่น ครับ, ค่ะ, นะครับ, นะคะ, นะจ๊ะ, จ้ะ, จ้า จะช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความสุภาพและความเป็นกันเองได้มากขึ้น และยังช่วยให้บรรยากาศในการแชทอบอุ่นมากขึ้นด้วย


4.ยังไม่สะดวกตอบ ก็ยังไม่ต้องอ่าน  เมื่อยังไม่สะดวกตอบ ก็ยังไม่ต้องเปิดเข้าไปอ่าน หรือถ้าเป็นธุระสำคัญก็ให้พิมพ์ทิ้งไว้ว่า “เดี๋ยวจะกลับมาตอบนะ” เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจขึ้น


5.ก่อนจะกดส่งลองอ่านซ้ำอีกครั้ง ลองอ่านประโยคที่กำลังพิมพ์ โดยออกเสียงเหมือนตอนพูดดู ว่ายังรู้สึกแข็งๆ ไม่รื่นหู ก็ให้เลือกใช้คำที่สุภาพหรือเป็นกันเองมากขึ้น คนที่อ่านจะได้รับรู้ถึงน้ำเสียงที่บอกไปได้


สสส.ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข ปลอดภัย และรู้เท่าทันสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คุณพี่ๆ สูงวัยทั้งหลายก่อนจะแชท หรือระหว่างแชท พักออกกำลังกายสักนิด เพิ่มกิจกรรมทางกาย นอกจากความแฮปปี้ทางใจแล้ว ยังเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกายอีกด้วย


เครดิตฟรี

Shares:
QR Code :
QR Code