วัยรุ่นต่ำ 20 ปี คลอดลูกเฉลี่ย 8 หมื่นคนต่อปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
เวทีสุขภาวะทางเพศ พบปัญหาวัยรุ่นหญิงต่ำกว่า 20 ปี คลอดลูกกว่า 8 หมื่นราย ในปี 60 ห่วงปัญหานักเรียน มีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ส่งผลติดโรคช่วง 5 ปีพุ่ง ขณะที่หน่วยงานรัฐ ตั้งเป้าลดวัยรุ่นท้องลง 50% ภายใน 9 ปี ด้านเครือข่ายเยาวชนเรียกร้องสิทธิได้รับบริการจาก สปสช.
ในการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 "การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน" วานนี้ (28 ม.ค.) นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านวิชาการ เปิดเผยถึงสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า ข้อมูลจากกรมอนามัยล่าสุดในปี 2560 พบว่า จำนวนหญิงคลอดอายุ 10-19 ปี 84,578 คน จากจำนวนหญิงคลอดทั้งหมด 656,571 คน คิดเป็น 12.9%
เมื่อแยกเป็นกลุ่มหญิงอายุ 10-14 ปี พบคลอด 2,559 คน คิดเป็น 1.3/1,000 ประชากรหญิงอายุ 10-14 ปีทั้งหมด ส่วนหญิงอายุ 15-19 ปี คลอด 82,019 คน คิดเป็น 39.6/1,000 ประชากรหญิง 15-19 ปีทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปี มากกว่า 50/1,000 ประชากร ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ตาก ชลบุรี ระยอง นครนายก และสมุทรสาคร
ห่วงนร.มีเพศสัมพันธ์ติดโรคพุ่ง
นพ.วิวัฒน์ ระบุว่า ข้อเท็จจริงที่น่าห่วงคือ นักเรียนมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในระดับ ม.5 นักเรียนเคยมีเพศสัมพันธ์เพศชาย 1 ใน 4 เพศหญิง และ 1 ใน 5 ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดกับแฟน เป็นเพศชาย 76.5% เพศหญิง 71% ส่วนนักเรียนระดับ ปวช. 2 เคยมีเพศสัมพันธ์ เพศชาย 41% เพศหญิง 43.6% การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดกับแฟน เพศชาย 69.5% เพศหญิง 65.7 %
"ที่น่ากังวลเนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าในระดับชั้น ปวช.2 นักเรียนหญิงเคยมีเพศสัมพันธ์มากกว่านักเรียนชาย นอกจากนี้ พบว่าอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาทิ ซิฟิลิส หนองใน ติดเชื้อเอชไอวี อยู่ที่ 161 รายต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่อยู่ที่ 93 รายต่อแสนประชากร ถึง 72% ในช่วงเวลา 5 ปี"
นพ.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทางการแพทย์ถือว่าสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ส่งผลกระทบทั้งกายและใจ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อตัวหญิงตั้งครรภ์ มีภาวะโลหิตจาง คลอดก่อนกำหนด ทำแท้งไม่ปลอดภัย ส่วนทารกที่คลอดเสี่ยงน้ำหนักแรกคลอดน้อย พัฒนาการช้า นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมด้วย มีอัตราหย่าร้างสูง เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กที่เติบโตมาจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ไม่เหมาะสม เสี่ยงก่อปัญหาสังคมในอนาคต
เยาวชนเรียกร้องสิทธิได้รับบริการ
วันเดียวกัน เยาวชนเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นทั่วประเทศ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย น.ส.พรพรรณ ทองทนงศักดิ์ ผู้จัดการการให้คำปรึกษาห้องแชท เลิฟแคร์สเตชั่น ดอทคอม กล่าวว่า พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 กำหนดให้วัยรุ่นมีสิทธิได้รับบริการ แต่ในสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หัวข้อ "การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค" ช่วงอายุกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น 6-24 ปี รายการบริการที่ 18 ระบุให้เด็กและเยาวชนจะได้รับบริการ ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน และคำแนะนำการใช้เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์
แต่ในความเป็นจริง หน่วยบริการจำนวนมาก ไม่ได้มีบริการ เมื่อมีการสอบถามไปยัง สปสช.ได้รับคำตอบว่า หากหน่วยบริการจะให้บริการ ต้องทำเป็นโครงการพิเศษขอเข้ามา
"จำเป็นจะต้องมีการเปิดช่องทางให้วัยรุ่นได้รับการเข้าถึงบริการ โดย สปสช.ต้องพิจารณาให้เกิดแนวทางการดำเนินงานเรื่องนี้ให้เป็นจริง และเข้าถึงง่าย โดยให้หน่วยบริการจัดถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ให้บริการฟรีแก่เยาวชน และอยากให้พิจารณาให้กระจายอุปกรณ์เหล่านี้ ในจุดที่เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย เช่น ร้านขายยา ศูนย์เยาวชน หอพักเด็ก หรือในห้องน้ำสถานศึกษา เช่น ในหลายประเทศที่ดำเนินการแล้ว และมีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นน้อยกว่าประเทศไทย เพราะยิ่งเราไม่ต้องการเห็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก็ไม่ควรสร้างความยุ่งยากในการปฏิบัติ เพราะหลายคนมีความจำเป็นต้องใช้บริการถุงยางอนามัย และยาคุมฉุกเฉินให้สะดวกและทันเวลา" น.ส.พรพรรณ กล่าว
ปี 59 รัฐตั้งเป้าลดตั้งครรภ์วัยรุ่น 50%
ด้าน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 กำหนดเป้าหมายลดอัตรการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2569 โดยขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ 1. ส่งเสริมการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต 2.ส่งเสริมบทบาทของครอบครัวและชุมชนในการป้องกันปัญหา 3.จัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการคุมกำเนิดที่วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย 4.การดูแลช่วยเหลือและจัดสวัสดิการสังคมสำหรับวัยรุ่นที่ประสบปัญหา และ 5.การจัดการความรู้และระบบข้อมูล
เร่งพัฒนาระบบสอนเพศศึกษา
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ในส่วนของการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สสส.ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้สนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาระบบและเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาครู ให้สามารถจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาทุกระดับ รวมถึงกำลังพัฒนารูปแบบเครื่องมือ ในการเสริมทักษะพ่อแม่ ในสถานประกอบการ เพื่อให้มีทักษะการสื่อสารเชิงบวก และพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลานวัยรุ่น
นอกจากนี้ ยังร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหลายภาคส่วน ดำเนินงานสื่อสาร รณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนฐานคิดในสังคมไทย ให้มีมุมมองเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกัน และแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน