“วันสตรีสากล” เพื่อสองเราเท่าเทียม
ช้างเท้าหลัง เพศที่อ่อนแอ นั่นคือภาพที่หลายคน โดยเฉพาะผู้ชายมองภาพลักษณ์ผู้หญิงในสังคมที่มีมาแต่ช้านาน ส่งผลให้เกิดการกดขี่หรือละเมิดสิทธิต่างๆ มากมายที่ผู้หญิงทุกคนควรมี แต่หลังจากที่มีการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มแรงงานผู้หญิงในหลายประเทศ จนประสบความสำเร็จ จึงกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล แต่เมื่อมองย้อนกลับมาดูผู้หญิงในสังคมไทย ถึงแม้จะเป็นเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ผู้หญิงไทยเรามีบทบาททางสังคมมากขึ้น มีการรณรงค์ให้เปลี่ยนทัศนคติว่าผู้หญิงต้องเท่าเทียมผู้ชาย แต่ในอีกมุมหนึ่งของสังคม ก็ยังคงมีการเอารัดเอาเปรียบกดขี่หรือแม้แต่กระทำการรุนแรงต่อผู้หญิงอยู่จำนวนมาก
ผู้ที่ทำงานด้านการช่วยเหลือผู้หญิง อย่างนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยกับเราว่า ปัจจุบันการกดขี่หรือการกระทำการรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมบ้านเราก็ยังคงมีตัวเลขที่สูงขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง จากการให้บริการคำปรึกษาของมูลนิธิเพื่อนหญิง ทั้งด้านนักสังคมสงเคราะห์ กฎหมาย และคดีความ ปี พ.ศ. 2552 มีผู้ขอคำปรึกษามากถึง 775 ราย แบ่งเป็น 1. ความรุนแรงในครอบครัว 668 ราย หรือร้อยละ 86 มากที่สุดคือเป็นกรณีสามีมีหญิงอื่น รองลงมาคือสามีไม่รับผิดชอบ โดยตัวการสำคัญก็ยังคงเป็นสุราถึง ร้อยละ 25 และ 2. ปัญหาความรุนแรงทางเพศ มี 83 ราย หรือร้อยละ 11 มากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 54 หรือ 45 ราย เป็นการข่มขืนกระทำชำเรา รองลงมากรณีพรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทำชำเราในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ร้อยละ 10 หรือ 8 ราย และเป็นกรณีรุมโทรม ร้อยละ 9 หรือ 7 ราย โดยที่มีผู้กระทำมากที่สุด คือ 9 ราย มีข้อสังเกตว่า อายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งที่เป็นผู้ถูกกระทำและผู้กระทำมีมากขึ้นถึงร้อยละ 31 นอกจากนี้หากดูจากข่าวทางหนังสือพิมพ์ จะพบว่า ข่าวการละเมิดทางเพศ มีมากถึง 271 ข่าว โดยมีผู้ถูกกระทำทั้งหมด 331 ราย ผู้กระทำ 485 รายส่วนใหญ่ โดนข่มขืน รุมโทรม อนาจาร
“นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวเลขผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในสังคมเท่านั้น ยังเยอะขนาดนี้ และตนยังเชื่อว่าน่าจะมีผู้หญิงที่ไม่กล้าออกมารับคำปรึกษาอีกจำนวนหนึ่ง และรวมกับตัวเลขจากหน่วยงานอื่นๆ อีก ตัวเลขที่ออกมาน่าจะมากกว่านี้อีกมาก”นายจะเด็จกล่าว
นายจะเด็จ กล่าวต่อว่า ด้วยการทำงานของมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงมาโดยตลอด เราจึงจำเป็นต้องมองในหลายๆ ด้านเพื่อหาทุกหนทางเพื่อช่วยลดค่านิยมของการมองผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอจนทำให้ถูกทำร้ายทั้งกาย ใจและคำพูด และได้ได้เล็งเห็นอีกประเด็นสำคัญว่า ละคร หนัง และบทเพลง ก็มีส่วนทำให้สังคมยังคงมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแออยู่ เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่มักจะสร้างบทบาทให้ผู้ชายเป็นใหญ่ ทำให้สังคมยังคงซึมซับเรื่องเดิมๆ เราจึงจำเป็นต้องทำให้มีการปรับเปลี่ยนให้มันไปในทางที่ดีขึ้น ไม่วนเวียนในทางเดิมๆ ที่ผู้ชายก็ยังคงเอาเปรียบผู้หญิงอยู่
ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสวนาเรื่อง “ผู้หญิงในศิลปวัฒนธรรมและการเปลี่ยนผ่านขึ้น”เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขทัศนคติที่ผิดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนายจะเด็จกล่าวต่อว่า หากนักแต่งเพลง หรือผู้กำกับสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงในเนื้อหาไปในทางที่สร้างสรรค์ ให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น สังคมก็จะค่อยๆซึมซับและเปลี่ยนมุมมอง ปัญหาการถูกทำร้ายก็จะค่อยๆลดลง ผู้หญิงคงไม่ต้องระวังตัวมากขนาดนี้ และคดีข่มขืนคงจะมีน้อยลง ปัญหาทำแท้งลดลงตามไปด้วย
แต่ดูเหมือนว่าการปรับเปลี่ยนแนวเนื้อหาเพลงหรือบทละครดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะบางครั้งผู้ชมก็เป็นคนกำหนดทิศทางความเป็นไปของตัวละคร จนทำให้ผู้จัดต้องทำตาม ซึ่งถือเป็นเรื่องทุนนิยมที่ห่อหุ้มอยู่ เพราะไม่มีใครอยากขัดใจคนดู โดยนายยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนบทประพันธ์โทรทัศน์ “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” ทางช่อง 3 กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะคนทำงานด้านนี้มากว่า 30 ปี จึงอยากฝากคำว่าศักดิ์ศรีถึงทุกคน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะค่านิยมตอนนี้ ไม่ค่อยรู้จักคำว่าศักดิ์ศรี เช่น ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีในความเท่าเทียม และผู้หญิงต้องคำนึงถึงคุณค่าตัวเองให้มากๆ รวมถึงการให้เกียรติซึ่งกันแระกันให้มากขึ้นด้วย หากทำได้สังคมก็จะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลยที่เดียว
การจะเปลี่ยนแปลงอะไรใช่ว่าจะสามารถทำได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน แต่มันจะสำเร็จได้นั้นต้องใช้เวลาและทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้มีแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องเลิก การมองว่าชายเป็นใหญ่และพร้อมจะให้เกียรติซึ่งกันและกัน สร้างค่านิยมสองเราเท่าเทียมเพราะนั่นใช่เพียงจะลดปัญหาต่างๆ รวมถึงการละเมิดสิทธิของกันและกันแล้ว ประเทศไทยอาจจะติดอันดับต้นๆประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกก็เป็นได้นะคะ…
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th